Capgras syndrome โรคที่ทำให้คนใกล้ชิดกลายเป็นคนแปลกหน้า
ภาวะทางจิตเวชหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าคนใกล้ชิดของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยคนอื่นที่มีรูปลักษณ์เหมือนกัน ภาวะนี้เรียกว่า แคปกร้าส์ ซินโดรม (Capgras syndrome)
คุณเคยรู้สึกว่าคนใกล้ชิดของคุณดูเหมือนจะไม่ใช่คนเดิมหรือไม่ อาจฟังดูเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่มีภาวะทางจิตเวชหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าคนใกล้ชิดของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยคนอื่นที่มีรูปลักษณ์เหมือนกัน ภาวะนี้เรียกว่า แคปกร้าส์ ซินโดรม (Capgras syndrome)
แพทย์หญิงปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า แคปกร้าส์ ซินโดรม (Capgras syndrome) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก ผู้ป่วยที่มีอาการนี้จะมีความเชื่อว่าคนที่รู้จักหรือใกล้ชิด เช่น ครอบครัว คู่รัก หรือเพื่อน ถูกสลับตัวและกลายเป็น "คนอื่น" หรือเป็น "ตัวปลอม" ที่มีลักษณะและพฤติกรรมเหมือนกับคนรู้จักทุกอย่างแต่ผู้ป่วยจะเชื่อว่านี่ไม่ใช่คนรู้จักหรือคนใกล้ชิดจริงๆ ส่งผลให้เกิดความสับสน ความไม่ไว้วางใจ และความวิตกกังวลอย่างรุนแรงในชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการเด่นดังนี้
· รู้สึกไม่ไว้วางใจและหวาดระแวง : ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับบุคคลที่ตนเชื่อว่าเป็นตัวปลอม
· การปฏิเสธบุคคลใกล้ชิด : แม้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะพยายามยืนยันตัวตนอย่างไร ผู้ป่วยก็จะปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นคนละคน
· อารมณ์แปรปรวนและมีความรู้สึกไม่มั่นคง : ผู้ป่วยอาจรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล หรือเศร้าโศก เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในความรู้สึกได้
สาเหตุของ แคปกร้าส์ ซินโดรม ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดแต่เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางโครงสร้างและการทำงานของสมองหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ การรับรู้ใบหน้า อารมณ์ และอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ภาวะสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ , การบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมอง และความเครียดรุนแรงหรือการเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการคิดและรับรู้
การรักษามักจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการหลงผิดและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
· การใช้ยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคจิตเภท เช่น ยาต้านจิตเวช อาจช่วยลดอาการหลงผิดและความวิตกกังวล โดยจิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและกำหนดวิธีการใช้ยาอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
· การบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการบำบัดด้านพฤติกรรมและความคิด สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับความคิดที่ผิดเพี้ยนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคแคปกร้าส์ ซินโดรมมักต้องใช้เวลาและการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่สงสัยว่าเป็น แคปกร้าส์ ซินโดรม ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
แพทย์หญิงปัทมาพร ทองสุขดี
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
ภาพปก: Envato
ข่าวแนะนำ