TNN ควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย

TNN

Health

ควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย

ควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย

ผลการสำรวจพบ คนไทยร้อยละ 70 สูดควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเรื่อง “ฆาตกรที่มองไม่เห็น: คนไทยตายปีละเท่าไรจากควันบุหรี่มือสอง”


รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 34 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับที่สูงมาก 


จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบคนไทย ร้อยละ 70 ได้รับควันบุหรี่มือสอง


ขณะที่การสำรวจของอังกฤษ ปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียง ร้อยละ 30 ซึ่งน้อยกว่าไทย โดยในไทยผู้หญิงได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน ร้อยละ 68 มากกว่าผู้ชายได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน ร้อยละ 47


เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีก 57 ประเทศ พบว่าผู้หญิงไทยอายุ 15-49 ปีได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย


ด้าน ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบเด็กอายุ 1- 5 ปี พักอยู่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่สูงถึง ร้อยละ 55 


โดยในกรุงเทพฯ พบมากที่สุด ร้อยละ 62 การที่เด็กรับนิโคตินจากควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงก่อโรคมากขึ้น มีงานวิจัยพบบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ พบเด็กในบ้านป่วยฉุกเฉินต้องเข้า รพ.ถึงร้อยละ 67 ต้องนอน รพ.ถึงร้อยละ 32 นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสารนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน


ขอบคุณข้อมูลจาก:  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง