"เมืองไร้ความเหงา" เกาหลีใต้ผุดไอเดีย แก้ปัญหาประชาชนโดดเดี่ยว
รัฐบาลเกาหลีใต้รีบออกนโยบายขจัดความโดดเดี่ยว ด้วยการทุ่มงบประมาณ 451.3 พันล้านวอน หรือว่า 100 ล้านบาท สร้าง "เมืองที่ไม่มีใครต้องเหงา" ให้ได้ภายในเวลา 5 ปี โครงการนี้เริ่มต้นที่กรุงโซล
ในแต่ละปี ชาวเกาหลีใต้นับพันคน โดยเฉพาะในกลุ่มชายวัยกลางคน จะเสียชีวิตอย่างเงียบๆ คนเดียว พวกเขาเหล่านี้ถูกตัดขาดจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำให้บางครั้งต้องใช้เวลาหลายวันหรือแม้กระทั่งหลายสัปดาห์กว่าจะพบศพ
นี่คือ ภาพสะท้อนปัญหาสังคมโดดเดี่ยวของเกาหลีใต้ และถึงกับมีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกการตายอย่างโดดเดี่ยวนี้ว่า "โก-ด๊ก-ซา" ซึ่งเป็นวิกฤตที่น่ากังวลอย่างมากในสังคมเกาหลีใต้
เพื่อแก้ไขปัญหา รัฐบาลเกาหลีใต้รีบออกนโยบายขจัดความโดดเดี่ยว ด้วยการทุ่มงบประมาณ 451.3 พันล้านวอน หรือว่า 100 ล้านบาท สร้าง "เมืองที่ไม่มีใครต้องเหงา" ให้ได้ภายในเวลา 5 ปี โครงการนี้เริ่มต้นที่กรุงโซล เมืองหลวงเป็นหมุดหมายแรก
◾คนเกาหลีใต้หลายพันตายอย่างโดดเดี่ยว◾
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง โดยใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษ มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่โลกให้การสนใจอย่าง K-POP พัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้า สร้างสิ่งอำนายความสะดวก การกินอยู่ของผู้คนสุขสบาย
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงลิ่ว เช่นเดียวกันกับ ปัญหาความโดดเดียวที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น คนหนุ่มสาวที่แยกตัวจากโลกภายนอกและใช้ชีวิตเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน โดยปรากฏการณ์นี้รู้จักกันในคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า "ฮิคิโคโมริ" ซึ่งพบเห็นได้บ่อยขึ้น
จากการประมาณการพบว่าเกาหลีใต้มีผู้แยกตัวจากสังคมเช่นนี้สูงถึง 244,000 คนในปี 2022
ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เพิ่มขึ้นเป็น 3,661 คนเมื่อปีที่แล้ว จากจาก 3,559 คนในปี 2022 และ 3,378 คนในปี 2021 และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นวิกฤตประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าการเกิดอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของเกาหลีใต้กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึง การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวด้วยเช่นเดียวกัน
ที่น่าสังเกต คือ มากกว่าร้อยละ 84 ของการตายอย่างโดดเดี่ยว เป็นผู้ชาย มากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า มากกว่าครึ่งเป็นผู้ชายในวัย 50-60 ปี พูดง่ายๆ คือ พวกเขาเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น
◾เศรษฐกิจดี GDP สูง แล้วอะไรทำให้คนเกาหลีใต้ โดดเดี่ยว?◾
แม้เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเกาหลีใต้เป็นชาติที่โดดเดี่ยวที่สุด
แต่คำอธิบายความเหงาในสังคมเกาหลีใต้ อาจมาจากความแตกต่างบางอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมประเทศอื่นๆ
บางชาติความเหงาและโดดเดี่ยวอาจเกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่เติมเต็ม แต่สำหรับชาวเกาหลีใต้ ผู้คนบอกว่าพวกเขารู้สึกเหงามากเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอหรือขาดจุดมุ่งหมาย ซึ่งสะท้อนได้จากสังคมการทำงานที่มีการแข่งขันสูงและวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา สร้างภาวะเครียดและวิตกกังวล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเกาหลีรุ่นมิลเลนเนียล (อายุ 18-34 ปี) และ Gen Z (อายุ 18-26 ปี) จะอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ ในขณะที่มักวิจารณ์ตัวเองมากเกินไปและกลัวความล้มเหลว
การศึกษาที่เผยแพร่เดือนมิถุนายน ปี 2024 พบว่า การระบาดของความโดดเดี่ยวสะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนในวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่ง "เน้นการมุ่งเน้นความสัมพันธ์" หรือ การที่ผู้คนนิยามตัวเองในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ผลที่ตามมาคือ ชาวเกาหลีใต้อาจรู้สึกเหงาอย่างลึกซึ้งหรือรู้สึกล้มเหลวหากพวกเขารู้สึกว่าตนเอง ไม่ได้สร้างผลกระทบที่สำคัญต่อผู้อื่นหรือสังคม
นี่คือความแตกต่างของความโดดเดี่ยวในสังคมเกาหลีใต้กับประเทศอื่นๆ
◾ความพยายามของรัฐบาลในสังเวียนสู้ปัญหาความโดดเดี่ยว◾
เมื่อปัญหาแผ่กว้าง ทางการเกาหลีใต้จึงริเริ่มโครงการต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเช่น การออก พ.ร.บ. การป้องกันและจัดการการตายอย่างโดดเดี่ยว สั่งให้รัฐบาลรวบรวมแผนป้องกันแบบครอบคลุมและรายงานสถานการณ์ทุกห้าปี
หนึ่งในนั้น คือ โครงการสร้างเมืองไร้ความโดดเดี่ยว ที่รวมถึงที่ปรึกษาด้านความโดดเดี่ยวที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการให้คำปรึกษาในลักษณะเดียวกัน รวมถึงมาตรการติดตามผล เช่น การเยี่ยมบ้านและการให้คำปรึกษาตัวต่อตัว ตามที่รัฐบาลท้องถิ่นระบุ
โอ เซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซลกล่าว ว่า กรุงโซลจะ "ระดมศักยภาพของเทศบาลทั้งหมด" เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่โดดเดี่ยว
"ความเหงาและความโดดเดี่ยวไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นภารกิจที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข"
กรุงโซลยังมีแผนที่จะเพิ่มบริการด้านจิตวิทยาและพื้นที่สีเขียว แผนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้อยู่อาศัยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มีการสร้างระบบค้นหาเฉพาะสำหรับระบุผู้อยู่อาศัยที่แยกตัวที่ต้องการความช่วยเหลือ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนออกไปข้างนอกและเชื่อมต่อกับผู้อื่น เช่น การทำสวน กีฬา ชมรมหนังสือ และอื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญต่างยินดีกับมาตรการเหล่านี้ แต่กล่าวว่ามีสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้อง "ดำเนินการ" มากกว่านี้ ซึ่งคือ ลักษณะเฉพาะบางอย่างของวัฒนธรรมเกาหลี ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงแต่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุแห่งความโดดเดี่ยว
อัน ซูจอง ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมยองจีกล่าว ความโดดเดี่ยวเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในขณะนี้ ดังนั้น ความพยายามหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามาตรการเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ข้อมูล : A loneliness epidemic is spreading worldwide. Seoul is spending $327 million to stop it
ภาพ : Envato
ข่าวแนะนำ