กรมสุขภาพจิตเปิดแนวทางดูแลจิตใจหลังเกิดเหตุ “รถบัสไฟไหม้” อะไรไม่ควรทำ
กรมสุขภาพจิตเปิด แนวทางดูแลจิตใจ พร้อมแนะแนวทางปฏิบัติสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรทำหลังเกิดไฟไหม้รถบัส
จากกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัส ณ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกภาคส่วนภายในกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญ และมีการหารือเพื่อดำเนินการปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ในส่วนของการดูแลทางด้านสุขภาพจิตทางกรมสุขภาพจิตได้มีการจัดทำแผน โดยจัดทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบเหตุ ทั้งกลุ่มที่บาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์และอยู่ในเหตุการณ์ ตลอดจนกลุ่มผู้สูญเสีย
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในกรณีเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ซึ่งขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดูแลจิตใจสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มี ความเสี่ยงจากภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง สิ่งที่ควรทำมีดังนี้
- คำนึงถึงความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง
- รีบส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวและการใช้ชีวิตตามปกติ
- ผู้ใหญ่จัดการอารมณ์ตนเองเป็นต้นแบบ
- มีผู้ใหญ่/ผู้ปกครอง ดูแลใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางจิตใจโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีการสูญเสีย
- พาทำกิจกรรมผ่อนคลาย เพื่อหันเหความสนใจจากเหตุการณ์
สำหรับสิ่งที่ไม่ควรทำหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรง
- ไม่ถามเด็กให้เล่าถึงรายละเอียดของเหตุการณ์
- งดนำเด็กมาออกข่าว/เสพข่าว
- ไม่นำเด็กมาเป็นเครื่องมือการสร้างภาพกระแสดรามา
ทั้งนี้ ทีมเยียวยาจิตใจ MCATT จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ รพ.ลานสัก สสอ.ลานสัก และรพ.เครือข่ายใน จ.อุทัยธานี ร่วมประเมินและช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ปกครอง และผู้ได้รับผลกระทบ
จากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ได้ทำการประเมินคัดกรองสุขภาพจิต 24 ราย พบมีภาวะเครียดระดับน้อย 5 ราย, ปานกลาง 8 ราย, มาก 11 ราย และพบภาวะเศร้า ระดับน้อย 3 ราย, ปานกลาง 3 ราย, มาก 5 ราย โดยให้คำปรึกษารายบุคคล 8 ราย ส่งต่อ 1 ราย และเฝ้าระวัง 3 ราย คือ ตั้งครรภ์ 1 ราย ความดันโลหิตสูง 2 ราย อีกด้วย
กรมสุขภาพจิต ขอแนะแนวทางในการดูแลญาติและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ดังนี้
- แจ้งการสูญเสียด้วยความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ
- แสดงความเสียใจเป็นข้อความหรือการ์ด
- ให้ข้อมูลความรู้สุขภาพจิตเบื้องต้น
- ให้คำแนะนำการปรับตัว การดูแลสุขภาพ ติดต่อสังคมเพื่อนฝูง การไว้อาลัยที่สามารถทำได้
- ประเมินสุขภาพจิต ถ้าพบความเสี่ยงควรส่งต่อทันที
- สนับสนุนให้ตั้งกลุ่มเพื่อน เพื่อช่วยเหลือกันเอง
ข้อมูลจาก: กรมสุขภาพจิต
ภาพจาก: Getty Images
ข่าวแนะนำ