TNN ป่วยวัณโรค! หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วย ติดเชื้อจากลูกจ้างไอเรื้อรังต่อเนื่อง 3 เดือน

TNN

Health

ป่วยวัณโรค! หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วย ติดเชื้อจากลูกจ้างไอเรื้อรังต่อเนื่อง 3 เดือน

ป่วยวัณโรค! หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วย ติดเชื้อจากลูกจ้างไอเรื้อรังต่อเนื่อง 3 เดือน

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยหญิง งอายุ 54 ปี ติดเชื้อ "วัณโรคระยะแฝง" จากลูกจ้าง ไอเรื้อรังต่อเนื่องมา 3 เดือน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ วัณโรค


โดยระบุว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 54 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่มีเหงื่อออกกลางคืน มาตรวจวันที่ 10 สิงหาคม 2567 เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจติดเชื้อวัณโรคจากลูกจ้างคนไทยที่ทำงานเป็นแม่ครัว และทำความสะอาดบ้านเช้าถึงเย็น ลูกจ้างคนนี้อายุ 44 ปี ไอเรื้อรังต่อเนื่องมา 3 เดือนตั้งแต่มีนาคม 2567 มีไอปนเลือด มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเดือนมิถุนายน 2567 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ ตรวจเสมหะพบเชื้อวัณโรค ป่วยเป็นวัณโรคปอดระยะแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ทางการหายใจ หลังกินยารักษาวัณโรค 4 ขนาน 2 เดือน ลูกจ้างอาการดีขึ้นมาก ในบ้านไม่มีเด็ก มีคนอยู่ในบ้านด้วยกันอีก 3 คน ยังไม่มีใครมีอาการ


ตรวจร่างกายปกติ ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจเลือดวัดระดับ Interferon-Gamma (IFN-γ) ใน IFN-γ release assay (IGRA)  โดยชุดทดสอบ QuantiFERON-TB Gold Plus ให้ผลบวก บ่งชี้ว่าติดเชื้อวัณโรค 


วินิจฉัย: ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง Latent TB infection ในร่างกายมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายๆปี เมื่อร่างกายอ่อนแอลง อาจป่วยเป็นวัณโรคได้ในภายหลัง ได้เริ่มยารักษาวัณโรคระยะแฝงด้วยยา  INH 300 มก.วันละครั้ง ร่วมกับวิตามิน B6 วันละครั้ง หลังกินยา 1 เดือน ไม่แพ้ยา จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ 9 เดือน การตรวจวัณโรคแฝงทำโดยการทดสอบทุเบอร์คุลินทางผิวหนัง หรือตรวจจากเลือดโดยวิธี IGRAs 


วิธีการตรวจวัณโรคแฝงด้วยเลือด มี 2 วิธี  QuantiFERON-TB Gold Plus และ T-SPOT.TB for Interferon gamma release ได้ตรวจคัดกรองคนในบ้านอีก 3 คน ด้วยเอกซเรย์ปอด และตรวจเลือด QuantiFERON-TB Gold Plus ทุกคนให้ผลลบ แสดงว่าไม่ได้รับเชื้อวัณโรค 


สรุป: ลูกจ้างคนที่ป่วยเป็นวัณโรคแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ตัว 1 ใน 4 ของคนในบ้านนี้



วัณโรคแฝง คืออะไร?  (ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท)


วัณโรคแฝง ก็คือการที่เราได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่เชื้อนั้นซ่อนอยู่ภายในร่างกาย เหมือนระเบิดเวลารอแสดงอาการในช่วงเวลาที่ร่างกายจะอ่อนแอ ซึ่งธรรมชาติของวัณโรคจะมีระยะเวลาในการฝักตัวค่อนข้างนาน อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือในบางรายก็เป็นปีจึงจะแสดงอาการ ซึ่งการได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการนี่แหล่ะ คือการเป็นวัณโรคระยะแฝง (Latent TB)


 วัณโรคแฝง แม้จะไม่แสดงอาการ แต่ก็ร้ายไม่ใช่เล่น!


แม้ว่าวัณโรคแฝงจะไม่แสดงอาการ และยังไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ แต่ก็มีการศึกษาทางด้านงานระบาดวิทยาในอเมริกาหลายชิ้นที่พบว่าผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงขณะที่มีภูมิคุ้มกันปกติ 5-10% จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคภายใน 2-5 ปีหลังจากการติดเชื้อวัณโรคครั้งแรก ไม่นับรวมในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะยิ่งมีโอกาสพัฒนาจากวัณโรคแฝงไปเป็นวัณโรคสูงขึ้น 21 เท่าเลยทีเดียว


ดูแลตัวเองอย่างไร? เพื่อลดความเสี่ยงวัณโรคแฝง


-หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นวัณโรค

-สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อเดินทางไปในที่มีผู้คนจำนวนมาก

-ล้างมือสม่ำเสมอหลังหยิบจับสิ่งของร่วมกับผู้อื่น

-ออกกำลังกายเพื่อเสริมความภูมิคุ้มกัน

-ตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูการทำงานของปอด และคัดกรองความเสี่ยงวัณโรคแฝง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง