TNN เด็กเหนื่อยง่าย-โตช้า เสี่ยง! “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด”

TNN

Health

เด็กเหนื่อยง่าย-โตช้า เสี่ยง! “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด”

เด็กเหนื่อยง่าย-โตช้า เสี่ยง! “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด”

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 5 - 12 สัปดาห์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) คือความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจที่เกิดในกระบวนการสร้างหัวใจในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 5 - 12 สัปดาห์ 


"โดยโรคนี้แบ่งได้เป็นสองประเภทคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเขียวคือเลือดดำผสมกับเลือดแดงตั้งแต่เกิดกลุ่มนี้มักมีอาการรุนแรงตั้งแต่เด็กเช่นเหนื่อยหอบมากขณะดูดนมแม่โตช้าและเหนื่อยง่ายตอนออกกำลังกายอีกประเภทคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไม่เขียวส่วนใหญ่เกิดจากผนังหัวใจรั่วแต่เลือดแดงกับเลือดดํายังไม่ผสมกันกลุ่มนี้อาจมีอาการเมื่อโตขึ้นมา เช่น เหนื่อยง่ายออกกําลังกายไม่ไหวมีน้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์" นพ.สุวาณิชเตรียมชาญชูชัยอธิบาย


เป็นโรค-ใช้ยา-ดื่มสุราเสี่ยงทารกเป็น "โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด"


ปัจจัยเสี่ยงของคุณแม่ที่ทำให้เด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้แก่กลุ่มคุณแม่อายุมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่ลูกเกิดมาเป็นโรคทางพันธุกรรมเช่นโรคดาวน์ซินโดรมส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้ามีความบกพร่องทางสติปัญญาและเสี่ยงโรคทางหัวใจประมาณ 40% ต่อมาคือกลุ่มคุณแม่ที่เป็นโรคระหว่างตั้งครรภ์ เช่น


1.โรคเบาหวานที่ทำให้ทารกตัวโตเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือหลอดเลือดหัวใจสลับขั้ว


2. โรคไข้หวัดใหญ่ที่เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีความเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าเด็กปกติถึงสองเท่า


3. โรคหัดเยอรมันที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของทารก


4. กลุ่มคุณแม่ที่ได้รับสารเคมีหรือได้รับยาระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าเชื้อยาปฏิชีวนะยากันชักก็อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์จึงต้องปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาอยู่เสมอและในกลุ่มสุดท้ายคือ


5. กลุ่มคุณแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ที่อาจส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ของเด็กในครรภ์ได้


"โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด" รักษาช้า โตไปสุขภาพแย่


หากผู้ปกครองสังเกตว่าทารกดูดนมแม่แล้วเหนื่อยหอบตัวเขียว น้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือหายใจไม่ทันมีโอกาสเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดได้ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยการวินิจฉัยโรคจะแบ่งออกเป็นสองแบบคือกรณีที่เด็กยังอยู่ในครรภ์และคุณแม่อยากตรวจสอบความเสี่ยงของลูก แพทย์จะทำอัลตราซาวด์หัวใจควบคู่ไปกับการดูว่าน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับอายุหรือไม่ส่วน


กรณีที่เด็กออกมาแล้วแพทย์จะตรวจคลื่นหัวใจ (Echocardiogram) และเอกซเรย์ปอดหรือใช้การCT Scan หรือMRI เพื่อตรวจสอบการทํางานของหัวใจเพิ่มเติมนพ.สุวาณิชเตรียมชาญชูชัยอธิบายถึงการรักษาว่า 


โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งตรวจพบไวก็รักษาหายเร็วในบางรายอาจไม่มีอาการอันตรายและหายได้เองเมื่อทารกโตขึ้น ส่วนบางคนอาจต้องใช้ยารักษาแต่ถ้าในกรณีที่เด็กมีภาวะเขียวส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือผ่าตัดเพื่อปิดรูรั่วหัวใจซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์สามารถใช้อุปกรณ์สวนเข้าไปปิดรูรั่วได้เลยไม่จําเป็นต้องเปิดอกเพื่อทำการผ่าตัดใหญ่


โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กอย่างมากผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตสุขภาพของเด็กๆอยู่เสมอเมื่อพบอาการผิดปกติจะได้พาไปพบแพทย์ทันทีถ้าพบว่าลูกของเราเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดก็ไม่อยากให้กังวลมากเกินไปเพราะบางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ด้านคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยดูแลสุขภาพของเจ้าตัวน้อยให้ดี


ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ พาเด็ก ๆ ไปรับวัคซีนอยู่เสมอ และระวังเรื่องฟันผุที่อาจทำให้ติดเชื้อลงไปในหัวใจได้ถ้าดูแลได้ดีสม่ำเสมอก็จะช่วยให้สุขภาพหัวใจของลูก ๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างแข็งแรง


ที่มา : รพ.วิมุต

ภาพ : Envato


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง