TNN แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม

TNN

Health

แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม

แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม

กรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วมในประเทศไทย

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าว (11 กันยายน 2567) ในหัวข้อ “รู้ทันสถานการณ์ จับตาโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม” พร้อมแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงนี้


โควิด 19 แนวโน้มผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบระบาดมากหลักในปัจจุบัน คือ JN.1 ข้อมูลวันที่ 7 มกราคม - 7 กันยายน 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 38,236 ราย เสียชีวิต 201 ราย โดยระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 314 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว


ไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือสายพันธุ์ A/H1N1(2009) ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 468,631 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 36 ราย เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยผลการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ปี 2567 จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 4,170,210 คน มีผู้เข้ารับบริการ 3,802,584 คน คิดเป็นร้อยละ 91 ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ยังคงเฝ้าระวัง และตระหนักในการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เมื่อมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และไปรับการรักษาจากแพทย์ หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ 


ไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 72,157 ราย พบมากสุดในกลุ่มวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 71 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว จึงขอเน้นย้ำมาตรการ สำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ควบคุมยุงพาหะ วินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว และสื่อสาร เน้นงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก (อาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร) และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ทายากันยุงด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน


ฝีดาษลิง สถานการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 กรกฎาคม 2567 ผู้ป่วยสะสม 102,997 ราย เสียชีวิต 223 ราย เป็นกลุ่มอายุ 30-39 ปี (41%) ส่วนใหญ่เป็นเชื้อฝีดาษวานร Clade II ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 – 6 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 835 ราย เป็นกลุ่มอายุ 30-39 ปี (42%) และเสียชีวิต 13 ราย (1.6%) พบติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 13 ราย  ส่วนการติดตามการรักษาผู้ป่วยฝีดาษวานร Clade Ib ที่พบเป็นผู้ป่วยนำเข้ารายแรกของประเทศไทย ขณะนี้รักษาหายสามารถกลับบ้านได้แล้ว และจากการติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้จำนวน 43 ราย ขณะนี้ครบ 21 วัน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม

ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,452 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (20.5%) 


โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบเชื้อได้ในแหล่งน้ำและดินตามธรรมชาติ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย  ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ 


โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษในสถานศึกษา พบเหตุการณ์ระบาด 43 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วย 3,244 ราย 


ภัยสุขภาพจากน้ำท่วม และดินถล่ม ข้อมูลระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 8 กันยายน 2567 พบผู้เสียชีวิตรวม 29 ราย จากการจมน้ำ 15 ราย และดินถล่ม 13 ราย ไฟฟ้าช็อต 1 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุ 45-59 ปี (เฉลี่ย45.9 ปี) 


สำหรับวิธีการป้องกันการจมน้ำ ควรอพยพไปยังพื้นที่สูง ไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม ระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้รถเสียหลักล้มได้ สำหรับดินถล่มแนะ 


1.อพยพทันทีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยให้พ้นจากการไหลของดิน อย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร  

2.หลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำเชี่ยว  

3.ควรอยู่ห่างลำน้ำ ป้องกันดิน หิน ต้นไม้ ที่อาจไหลตามน้ำมา  

4.เมื่อพลัดตกน้ำ ให้หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนนี้ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลา


ที่มา : กรมควบคุมโรค

ภาพ : Envato

ข่าวแนะนำ