TNN สธ.พิจารณาแนวทาง "ฉีดวัคซีนฝีดาษลิง" ใครบ้างจะได้ฉีดเป็นกลุ่มแรก?

TNN

Health

สธ.พิจารณาแนวทาง "ฉีดวัคซีนฝีดาษลิง" ใครบ้างจะได้ฉีดเป็นกลุ่มแรก?

สธ.พิจารณาแนวทาง ฉีดวัคซีนฝีดาษลิง ใครบ้างจะได้ฉีดเป็นกลุ่มแรก?

กรมควบคุมโรค พิจารณา "วัคซีนฝีดาษลิง" เบื้องต้นกลุ่มแรกจะอยู่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้ป่วย ที่มีโรคร่วมเมื่อติดเชื้ออาการจะรุนแรง

นายแพทย์ ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค  ระบุถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย ว่า ยังทรงตัวและยังไม่พบผู้ป่วยสายพันธุ์เคลดวันบีเพิ่มเติม โดยวันนี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อพูดคุยแนวทางการใช้วัคซีนฝีดาษลิง ซึ่งกรอบการพิจารณามีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น ทบทวนข้อมูลของวัคซีนฝีดาษลิงที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งของไทย และต่างประเทศ รวมถึง ช่องทางการจัดหาวัคซีนฝีดาษลิงมายังประเทศไทย นอกจากนี้ยังพิจาณาความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้วัคซีนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และข้อบ่งใช้วัคซีนฝีดาษลิงของประเทศไทย 


เบื้องต้นอาจจะอยู่ในกลุ่มที่มีความจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนก่อน เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ที่ต้องดูแลผู้ป่วย และเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อต่างๆ / กลุ่มที่อยู่ตามด่านควบคุมโรค และกลุ่มผู้ป่วย ที่หากติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรง เช่น ในกลุ่มผู้ป่วย HIV 


ทั้งนี้ ในส่วนของวัคซีนฝีดาษลิง ในประเทศไทยที่มีการให้บริการ คือ ของสภากาชาดไทย โดยมีค่าวัคซีนและค่าบริการ  สำหรับคำแนะเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทยตอนนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ย้ำว่า ยังมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนทุกคน แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์/ผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศซึ่งพบมีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ตามข้อบ่งชี้ต้องรับวัคซีนคนละสองเข็ม ห่างกัน 28 วัน สามารถเลือกฉีดได้ทั้งแบบฉีดชั้นใต้ผิวหนังและ ฉีดเข้าชั้นผิวผิวหนัง  


ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ เคลดวันบี  ในประเทศไทย ติดตามและประเมินผลกระทบ จากการกลายพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาจมีต่อการระบาดวิทยา ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุข และคุณสมบัติอื่นๆ ของเชื้อไวรัส  การจัดทำและปรับปรุงแนวทางการตรวจวินิจฉัยให้สอดคล้องกับชนิดและความรุนแรงของสายพันธุ์ไวรัสที่พบ การพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยให้ทันสมัยและตอบสนองต่อสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง