"มะเร็งปอด" พบมากที่สุดทั่วโลก ป่วยระยะแรกมักไม่มีอาการ แนะเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
"มะเร็งปอด" พบมากที่สุดทั่วโลก ป่วยระยะแรกมักไม่มีอาการ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
"มะเร็งปอด" พบมากที่สุดทั่วโลก ป่วยระยะแรกมักไม่มีอาการ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
พฤศจิกายนเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด กรมการแพทย์ขอเชิญชวนท่านชายและหญิงทุกช่วงวัย ตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็งปอด แนะ “มะเร็งปอด” พบบ่อยในคนไทย ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
โรคมะเร็งปอด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,728 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง พันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
อาการของมะเร็งปอด
นายแพทย์ศุกล ภักดีนิติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งระบบทางเดินหายใจ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย
โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้าน
การรักษามะเร็งปอด
การรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่าย ที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก AFP