TNN รู้จัก "ไขมันพอกตับ" ภัยเงียบตัวร้าย ที่คนส่วนใหญ่เป็นโดยไม่รู้ตัว มีอาการอะไรบ้าง?

TNN

Health

รู้จัก "ไขมันพอกตับ" ภัยเงียบตัวร้าย ที่คนส่วนใหญ่เป็นโดยไม่รู้ตัว มีอาการอะไรบ้าง?

รู้จัก ไขมันพอกตับ ภัยเงียบตัวร้าย ที่คนส่วนใหญ่เป็นโดยไม่รู้ตัว มีอาการอะไรบ้าง?

ทำความรู้จัก "โรคไขมันพอกตับ" ภัยเงียบตัวร้าย ที่คนส่วนใหญ่เป็นโดยไม่รู้ตัว มีสาเหตุมาจากอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง?

ไขมันพอกตับ อีกหนึ่งภัยเงียบที่ทำลายสุขภาพของผู้คนไปจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ภาวะดังกล่าวสามารถทำไปสู่ภาวะที่อันตรายอย่างการเป็นตับแข็งและตับอักเสบได้  ดังนั้นโรคไขมันพอกตับจึงนับเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ควรถูกละเลย และควรทำความเข้าใจโดยทั่วกันถึงสาเหตุ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงอาการเบื้องต้น และวิธีการรักษาด้วย 


ไขมันพอกตับ คืออะไร?

ไขมันพอกตับ (Fatty Liver) คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลสะสมในร่างกายมากเกินความจำเป็น ทำให้น้ำตาลเหล่านี้ถูกสร้างเป็นไขมัน ในรูปของ Triglyceride เกิดเป็นการสะสมไขมันเหล่านี้ในเซลล์ตับ โดยแม้ว่าภาวะไขมันพอกตับไม่ใช่ภาวะที่อันตรายแต่มันสามาระส่งผลในระยะยาวทำให้ตับสามารถเกิดการอักเสบและนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ซึ่งโดยปกติแล้วภาวะนี้มักจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เราเห็นหรือสังเกตได้ ยกเว้นอาการจุกเสียดและแน่นที่สามารถพบได้ในบางครั้ง 


สาเหตุของ ไขมันพอกตับ คืออะไร?

สำหรับสาเหตุของภาวะไขมันพอกตับ มีด้วยกันหลายอย่าง ดังนี้

1. การมีไขมันสะสมในร่างกายปริมาณมาก โดยสาเหตุนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากการรับประทานอาหารประเภททอด หรือผัดด้วยน้ำมันเป็นประจำ หรือการไม่ออกกำลังกายเป็นต้น

2. โรคอ้วน หรือการมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

3. การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ

4. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุม ฮอร์โมนบางอย่าง ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

5. สาเหตุจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดัน ถุงน้ำในรังไข่ เส้นเลือดตีบตัน


อาการไขมันพอกตับ เป็นอย่างไร?

อาการของภาวะไขมันพอกตับ โดยปกติมักจะไม่ค่อยแสดงให้เห็น เพราะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็จะไม่เฉพาะเจาะจงจนสังเกตเห็นได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการบางอย่าง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา เป็นต้น


วิธีการรักษาและป้องกัน ภาวะไขมันพอกตับ

เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ ไม่มียาสำหรับรักษาโดยตรง ดังนั้นมักใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เพื่อให้ภาวะนี้ดีขึ้น ซึ่งทำได้ดังนี้

1. ควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารให้อยู่ในระดับที่ร่างกายต้องการต่อวัน 

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (High Fat) เช่น เนย ชีส กะทิ อาหารทะเล ไข่แดง 

3. เพิ่มผักผลไม้สด ถั่ว และธัญพืชในมื้ออาหาร

4. เปลี่ยนจากการบริโภคโปรตีนพวกเนื้อแดง มาเป็นเนื้อปลาแทน 

5. ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน

6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบางกอก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มาภาพ : freepik/Lifestylememory

ข่าวแนะนำ