“ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ” อาการเป็นอย่างไร-หอยนางรมดิบควรกินหรือไม่?
CDC แจ้งเตือนภัยด้านสุขภาพระวัง “แบคทีเรียกินเนื้อ” พร้อมเผยอาการติดเชื้อเป็นอย่างไร-หอยนางรมดิบควรกินหรือไม่?
วันนี้ ( 14 ก.ย. 66 )จากกรณีหนุ่มเท็กซัสรายหนึ่งเสียชีวิตจาก “กินหอยนางรมดิบ” โดยสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ( Vibrio vulnificus ) สร้างความสะพรึงให้แก่ผู้ที่ได้รับข่าวสารทั่วไป ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกมาแจ้งเตือนเกี่ยวกับ แบคทีเรียกินเนื้อแล้ว
CDC ได้ออกการแจ้งเตือนด้านสุขภาพระดับชาติเกี่ยวกับแบคทีเรียกินเนื้อ ที่เรียกว่า Vibrio vulnificus โดยแบคทีเรียชนิดนี้พบได้ตามน้ำทะเลและน้ำเค็ม และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือ รับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก
อาการหลังติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ( Vibrio vulnificus )
อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ( Vibrio vulnificus ) มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงถึง 3 วันหลังสัมผัสกับแบคทีเรีย อาการ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รอยแดงหรือบวมบริเวณที่สัมผัสกับแบคทีเรีย อาการรุนแรง เช่น ผิวหนังเน่าเปื่อย การติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก และเสียชีวิต
ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ Vibrio vulnificus
ข้อปฏิบัติลดความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ
1. ไม่ว่ายน้ำหรือดำน้ำในน้ำทะเลหรือน้ำเค็มที่มีน้ำขุ่นหรือมีสีผิดปกติ
2. หลีกเลี่ยงการกินหอยนางรม กุ้ง หอยแมลงภู่ และปลาดิบหรือปรุงไม่สุก
3. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนและหลังสัมผัสกับอาหารทะเล
4. ปรุงอาหารทะเลให้สุกทั่วถึงจนอุณหภูมิภายในอยู่ที่ 70 องศาเซลเซียล
5. ผู้ที่มีอาการที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ควรไปพบแพทย์ทันที
ภาพจาก : AFP