ไขข้อสงสัย ผู้หญิงเสี่ยงเป็น "ริดสีดวงทวาร" มากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่?
ไขข้อสงสัย ผู้หญิงมีโอกาสเป็น “ริดสีดวงทวาร” มากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่? เช็คที่นี่
ริดสีดวงทวาร อีกหนึ่งโรคที่สร้างความรำคาญและความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าโรคริดสีดวงนี้จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกิน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่ายโดยตรง แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลัง หรือ การตั้งครรภ์ เป็นต้น แล้วสาเหตุเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคริดสีดวงได้อย่างไร เราจะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจพร้อมๆ กันในบทความนี้
ระบบขับถ่ายกับริดสีดวง
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการที่ระบบขับถ่ายมีปัญหา โดยผู้ที่ท้องผูก และต้องออกแรงเบ่งเพื่อขับอุจจาระอยู่เป็นประจำ จะเกิดแรงกดหรือแรงดันในช่องท้อง ทำให้เนื้อเยื่อที่ช่วยในการขยายตัวของทวารหนัก มีการโป่งพองและเคลื่อนตัวห้อยลงมาต่ำกว่าตำแหน่งปกติ และไม่สามารถยุบตัวลงเมื่อขับถ่ายเสร็จ เกิดเป็นติ่งเนื้อที่เรียกว่า “ริดสีดวง” นั่นเอง
การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลัง เสี่ยงริดสีดวง?
การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลังหรือทางทวารหนัก (Anal sex) มีส่วนทำให้กลไกในการเบ่งเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “ริดสีดวง” เช่นเดียวกับการออกแรงเบ่งอุจจาระ
ผู้หญิงมีโอกาสเป็น “ริดสีดวง” มากกว่าผู้ชาย?
จากสถิติและผลการวิจัยพบว่า “ริดสีดวงทวาร” จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากการตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงค่อนข้างมาก เพราะเป็นการเพิ่มความดันและการกดทับในช่องท้อง โดยขณะตั้งครรภ์น้ำหนักและแรงดันจะไปกดตัวการไหลเวียนของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับทวารหนักมีปัญหา ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์แทบทุกคนจะมีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงทวารนั่นเอง
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลบางกอก
ที่มาภาพ : freepik/jcomp