"ริดสีดวงทวาร" โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เปิดสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
ทำความรู้จัก “ริดสีดวงทวาร” โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เปิดสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
ร่างกายของเรา ควรมีการขับถ่ายของเสียทุกวัน โดยเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงตี 5-7 โมงเช้า ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ลำไส้ใหญ่จะทำงานได้ดีที่สุด แต่ในบางคนนอกจากจะขับถ่ายไม่เป็นเวลาแล้ว ยังมีปัญหาท้องเสีย ท้องผูกอยู่เป็นประจำ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเกิด “ริดสีดวงทวาร” ได้
ริดสีดวง คืออะไร?
ริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) คือภาวะเนื้อเยื่อที่ช่วยในการขยายตัวของทวารหนักขณะขับถ่าย มีการโป่งพองและเคลื่อนตัวห้อยลงมาต่ำกว่าตำแหน่งปกติ และไม่ยุบตัวลงเมื่อขับถ่ายเสร็จ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจมีอาการอักเสบและติดเชื้อได้
ริดสีดวงทวาร แบ่งเป็น 2 ประเภท
สำหรับโรคริดสีดวงทวาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ริดสีดวงทวารชนิดภายใน – เป็นริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไป ซึ่งปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำหาไม่ได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดที่ปลายลำไส้ใหญ่
2. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก – ประเภทนี้หัวริดสีดวงจะเกิดขึ้นใต้แนวเส้นประสาท หรือบริเวณ “ปากทวารหนัก” สามารถมองเห็นและคลำได้ และริดสีดวงประเภทนี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ เพราะจะถูกเซลล์ผิวหนังที่มีปลายประสาทรับความรู้สึกคลุมอยู่
ริดสีดวง เกิดจากสาเหตุใด?
แม้ในปัจจุบัน จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคริดสีดวง ว่าเกิดจากอะไร แต่จากการศึกษาและความรู้จากงานวิจัยคาดว่า สาเหตุอาจเกิดมาจากแรงกดหรือแรงดันในช่องท้อง ซึ่งแรงนี้เกิดจาก “การเบ่ง” โดยส่วนมากจะเจอปัญหานี้ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายหรือท้องผูก ที่ต้องออกแรงเบ่งเพื่อขับอุจจาระอยู่เป็นประจำ และนอกจากผู้ที่มีปัญหาด้านการขับถ่ายแล้ว การป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองก็ทำให้เกิดแรงดันในช่องปอด จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารตามมาได้เช่นกัน
ริดสีดวงทวาร มีอาการอย่างไร?
สำหรับอาการของริดสีดวงทวาร จะแบ่งออกเป็นระยะดังนี้
ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย
ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มโผล่ออกมาพ้นรูทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็นมากขึ้น แต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไป
ระยะที่ 3 เวลาถ่ายอุจจาระหัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมา รวมไปถึงเวลาไอ จาม หรือการทำกิจกรรมที่เกิดความเกร็ง เบ่งในช่องท้อง หัวริดสีดวงทวารจะกลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือช่วยดัน ๆ เข้าไป
ระยะที่ 4 ริดสีดวงโตมากขึ้น มองเห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจน เกิดอาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน รุนแรง มักมีเลือดออกมาเสมอ อาจมีน้ำเหลือง เมือกลื่น ทำให้เกิดความสกปรกและมีอาการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันร่วมด้วย บางทีอาจเน่าและอักเสบ รวมไปถึงอาจเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
สำหรับการรักษาโรคริสีดวง จะแบ่งตามระยะดังนี้
• โรคริดสีดวงในระยะแรก และระยะที่สอง สามารถใช้เพียงยาทา ยาเหน็บ หรือยาฉีด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการขับถ่าย
• ระยะที่สาม การรักษาด้วยยาฉีดมักไม่ได้ผล จะมีการใช้การผ่าตัดหัวริดสีดวงออกไป
• ระยะที่สี่ เป็นระยะที่ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บปวด ทรมาร เพราะหัวริดสีดวงโผล่ อาจมีการบวมและอักเสบตลอดเวลา ดังนั้นควรพบแพทย์และรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลบางกอก
ที่มาภาพ : freepik/jcomp