"ลมพิษ" อาการคันที่ไม่ควรมองข้าม เปิดสาเหตุ อาการและวิธีป้องกัน!
โรค "ลมพิษ" อาการคันที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต เปิดสาเหตุ อาการและวิธีป้องกัน มีอะไรบ้าง?
ลมพิษ อีกหนึ่งโรคที่คนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้ ลักษณะอาการเด่นชัดของลมพิษมักจะสังเกตได้จากอาการคัน มีผื่นบวมนูนและแดงขึ้นตามร่างกาย ขนาดไม่แน่นอน ซึ่งบางครั้งอาจมีความคล้ายกับตุ่มยุงกัด ซึ่งแม้ว่าลมพิษจะสามารถหายเองได้ แต่ในบางครั้งอาจรุนแรงกว่าที่คิด และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นเราจะพามาทำความรู้จักกับโรคลมพิษให้มากยิ่งขึ้นในบทความนี้...
ลมพิษ คืออะไร
ลมพิษ (urticaria) คือผื่นคันที่มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง มีลักษณะนูนสีแดงคล้ายกับตุ่มที่เกิดจากการถูกยุงกัด แม้ว่าโดยปกติมักจะเกิดขึ้นที่ผิวหนัง แต่ความเป็นจริงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย และเมื่อเป็นแล้ว ผื่นจากลมพิษสามารถค่อยๆหายเองได้ในเวลาถัดมา
ทั้งนี้ประเภทของลมพิษสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (acute urticaria)
ลมพิษชนิดนี้มักมีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุหลักๆที่เป็นปัจจัยกระตุ้นได้แก่ การแพ้อาหาร, แพ้ยา และแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น
2. ลมพิษชนิดเรื้อรัง (chronic urticaria)
ลมพิษชนิดเรื้อรัง มักจะแสดงอาการเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง/ สัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ โดยสาเหตุจะแตกต่างจากลมพิษแบบเฉียบพลัน แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้
ลมพิษ เกิดจากอะไร
สำหรับสาเหตุของการเกิดลมพิษนั้นสามารถมาได้จากหลายปัจจัย แต่ที่สามารถพบได้บ่อย มีดังนี้
1. การแพ้อาหาร
2. การแพ้ยาบางชนิด
3. การติดเชื้อ จากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
4. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
5. แพ้ฝุ่น รวมถึงละอองเกสรของพืชและขนสัตว์บางชนิด
6. แพ้พิษจากการโดนแมลงกัดต่อย
7. พักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
8. มีความเครียดสะสม วิตกกังวล ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดลมพิษแบบเรื้อรัง
อาการของโรคลมพิษ
• มีผื่นคันลักษณะบวมแดงเป็นปื้นๆ หรือบางรายอาจมีตุ่มคล้ายยุงกัด เกิดขึ้นบนผิวหนัง และมีอาการคันร่วมด้วย
• ในบางรายอาจเกิดผื่นลมพิษบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนๆ เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก
• ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีการรักษาโรคลมพิษ
• พยายามหาสาเหตุและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
• ใช้ยาต้านฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) เพื่อควบคุมอาการ
• สามารถใช้คาลาไมน์ ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อลดอาการคัน
• หากผื่นลมพิษไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลศิครินทร์, Wikipedia
ที่มาภาพ : freepik