หมอยง ไขข้อสงสัย ทำไม? ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็น "ไข้หวัดใหญ่" ได้อีก
"หมอยง ภู่วรวรรณ" ไขข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อีก?
"หมอยง ภู่วรวรรณ" ไขข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อีก?
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความในหัวข้อ "ไข้หวัดใหญ่ ฉีดวัคซีนแล้วทำไมจึงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อีก"
โดยระบุว่า ขณะนี้ทั้งไข้หวัดใหญ่และ RSV กำลังระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน เด็กโตก็จะพบเป็นไข้หวัดใหญ่กันมาก เด็กเล็กก็จะเป็นทั้งไข้หวัดใหญ่และ RSV
หลายคนถามว่า “ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่” วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคได้ แต่ละปีไม่เหมือนกัน โดยเฉลี่ย 40-60% จึงไม่แปลกใจ ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับโควิด 19 ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะทำให้รู้โรครุนแรงน้อยลง
จากข้อมูลการศึกษาของเรา จะเห็นได้ชัดเจนว่า ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีนี้ ทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดใหญ่ A H1N1 2009, H3N2 และไข้หวัดใหญ่ B ปีนี้เป็นสายพันธุ์ Victoria หน้าตาของรหัสพันธุกรรมเป็นอย่างไร
ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์หนีออกจากวัคซีนมาโดยตลอด วัคซีนที่เราใช้เป็นวัคซีนซีกโลกใต้ วัคซีนที่จะมาใหม่ จะเป็นวัคซีนซีกโลกเหนือ
สำหรับประเทศไทยวัคซีนที่เหมาะสมจะเป็นซีกโลกใต้ของทุกปี โดยวัคซีนจะมีการกำหนดใช้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม แล้วปีต่อไปก็จะใช้สายพันธุ์ใหม่
เมื่อดูสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยจากการศึกษาของเรา จากรูปจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีการกลายพันธุ์หลบหลีกวัคซีน ไม่ได้อยู่ในกิ่งเดียวกับ สายพันธุ์วัคซีน ดังแสดงที่อยู่ในรูปไม่ว่าจะเป็น H1N1, H3N2 หรือไข้หวัดใหญ่ B Victoria สายพันธุ์วัคซีนจะอยู่บนกิ่งสีแดง ส่วนสายพันธุ์ที่พบในบ้านเราจะอยู่คนละกิ่ง
การศึกษาพันธุกรรมที่เราทำอยู่ขณะนี้ในศูนย์ำฯ ของเรา จะบอกได้อย่างดีว่าปีนี้ และขณะนี้ การระบาดของไวรัส เป็นสายพันธุ์อะไร ความรู้ทางวิชาการดังกล่าว แสดงให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้
โรค "ไข้หวัดใหญ่" เป็นอย่างไร กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลดังนี้
ลักษณะโรค
-เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน
วิธีการติดต่อ
-เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
ระยะฟักตัว
-ประมาณ 1-3 วัน
ระยะติดต่อ
-ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน
การวินิจฉัยแยกโรค
-ไข้หวัดใหญ่จากเชื้ออื่นโดยอาศัยลักษณะทางคลินิกอย่างเดียวทำได้ยาก เชื้ออื่นๆที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ Mycoplasma pneumoniae, adenovirus, respiratory syncytial virus (RSV), rhinovirus, parainfluenza virus, และ Legionella spp.
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
-ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเสมหะที่ป้ายหรือดูดจากจมูกหรือลำคอ หรือ
-ตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใน epithelial cell จาก nasopharyngeal secretion โดยวิธี fluorescent antibody หรือ
-ตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในซีรั่มอย่างน้อย 4 เท่าในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น โดยวิธี haemaglutination inhibition (HI) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน หรือ complement fixation (CF) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA)
ภาพจาก Yong Poovorawan / AFP