TNN "กอดจูบ" ติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่? เช็กเลยลักษณะผื่นเป็นแบบไหน

TNN

Health

"กอดจูบ" ติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่? เช็กเลยลักษณะผื่นเป็นแบบไหน

กอดจูบ ติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่? เช็กเลยลักษณะผื่นเป็นแบบไหน

"ฝีดาษลิง" แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร? "กอด-จูบ" อันตรายไหม ติดต่อได้หรือไม่ เช็กเลย ตุ่มฝีดาษลิง ลักษณะเป็นแบบไหน

"ฝีดาษลิง" แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร? "กอด-จูบ" อันตรายไหม ติดต่อได้หรือไม่ เช็กเลย ตุ่มฝีดาษลิง ลักษณะเป็นแบบไหน


โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น vaccinia virus, cowpox virus, variola virus เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ


อาการและการก่อโรค

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น 


การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วยคือมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ อัตราตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10


การแพร่เชื้อจากคนสู่คน สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดย

-การสัมผัสโดยตรงกับรอยโรค ตุ่มหนอง หรือสารน้ำในตุ่มหนองที่แตกออกมา


-ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม


-การกอดจูบ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ


-การสัมผัสสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่งปนเปื้อน


-ติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์



การป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 


1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  


2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  


3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  


4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  


5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ



กอดจูบ ติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่? เช็กเลยลักษณะผื่นเป็นแบบไหน
ภาพจาก โรงพยาบาลศิครินทร์

 

โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดงๆ กลมๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และ กลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ดจะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้




อัปเดตยอดติดเชื้อฝีดาษลิงในไทย


นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 27 สิงหาคม มีผู้ป่วยสะสม 283 คน โดยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก  แนวโน้มสถานการณ์ของโรคยังสูงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การระบาด อาจจะไม่ เร็วเท่าโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้แพร่ผ่านระบบทางเดินหายใจ แต่เป็นการแพร่ระบาดจากการสัมผัสแนบชิดใกล้ชิด และการมีเพศสัมพันธ์ โดยสัปดาห์เดียวมีผู้ป่วยสูงสุดกว่า 30-40 คน ซึ่งสถานการณ์ของโรคตอนนี้ของไทย จะใกล้เคียงกับจีนและเกาหลีใต้ 


สำหรับช่วงอายุผู้ป่วยฝีดาษลิงที่พบเพิ่มขึ้นตอนนี้ จะอยู่ในช่วงอายุ 20 ต้นๆ โดยพบผู้ป่วยอายุน้อยสุด 16 ปี  ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยเกือบทั้งหมด เป็น ชาย และผู้ป่วยจำนวนครึ่งนึงติด HIV ร่วมด้วย ส่วนเพศหญิงในปีนี้พบ 1 ราย ติดมาจาก แฟนชาวต่างชาติ อยู่ระหว่างติดตาม และสอบสวนโรค






ที่มา สธ. / สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข / โรงพยาบาล Praram9 / โรงพยาบาลศิครินทร์ 

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ