"โรคเก๊าต์" คืออะไร เกิดจากการกินไก่จริงหรือไม่? เปิดสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน
ทำความรู้จัก “โรคเก๊าต์” คืออะไร เกิดจากการกินไก่จริงหรือไม่? เปิดสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันก่อนสาย
โรคเก๊าต์ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบแบบเฉียบพลันของข้อต่อหรือเนื้อเยื่อรอบข้อ ซึ่งสามารถสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก อาการที่สามารถสังเกตได้คือบริเวณข้อต่อมักเกิดการอักเสบกำเริบแบบเฉียบพลันซ้ำๆ รวมถึงมีอาการบวมแดง ตึง และแสบร้อนบริเวณข้อต่อ โดยส่วนมากหรือคิดเป็นประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคเก๊าต์ มักจะเกิดอาการที่ข้อต่อกระดูกฝ่าเท้า-นิ้วเท้าที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า
โรคเก๊าท์เกิดจากสาเหตุใด
โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการเกิดภาวะปริมาณกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนกรดยูริกกลายเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ทั้งนี้กรดยูริกเปรียบได้กับของเสียที่อยู่ภายในร่างกาย ซึ่งปกติจะถูกขับออกโดยไตผ่านทางปัสสาวะ โดยภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร พันธุกรรม หรือ ความผิดปกติของอวัยวะเช่น ไต เป็นต้น
อาการของโรคเก๊าต์
สำหรับอาการของโรคเก๊าต์ที่พบได้บ่อยคือ บริเวณข้อที่อักเสบจากโรคเก๊าต์มีอาการปวดอย่างรุนแรง ปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังรอบๆข้อมีสีแดงและแวววาวขึ้น ซึ่งอาการมักรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก ส่งผลให้เคลื่อนไหวทำได้ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้อาการปวดข้ออาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 2-3 วัน และอาจยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ก่อนจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งหากมีอาการกำเริบซ้ำในอนาคตจะมีแนวโน้มของอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
การรักษาโรคเก๊าต์
การรักษาโรคเก๊าต์ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆคือ
1. การใช้ยารักษาโรคเกาต์ซึ่งมี 2 ประเภท โดยจะแตกต่างกันตามเป้าหมายในการรักษาที่ คือ ยาประเภทแรกช่วยลดการอักเสบและความรู้สึกไม่สบายตัวที่มาพร้อมกับโรคเก๊าต์ และยาประเภทที่สองจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเก๊าต์โดยลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล
2. การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตสสูง เป็นต้น โดยวิธีนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการทานยาเพื่อทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วิธีป้องกันโรคเก๊าต์
วิธีป้องกันโรคเก๊าค์สามารถทำได้หลายวิธี นั่นก็คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดโรค เช่น ไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ประเภทสัตว์ปีก เครื่องใน อาหารทะเลบางชนิด เพราะอาจก่อให้เกิดการสะสมของผลึกยูริกตามข้อ เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลเมดพาร์ค, Wikipedia
ที่มาภาพ : freepik