TNN ทาสหมา-ทาสแมว ระวัง! “เห็บกัด” เอาออกไม่ถูกวิธี เสี่ยงอัมพาตชั่วคราว

TNN

Health

ทาสหมา-ทาสแมว ระวัง! “เห็บกัด” เอาออกไม่ถูกวิธี เสี่ยงอัมพาตชั่วคราว

ทาสหมา-ทาสแมว ระวัง!  “เห็บกัด” เอาออกไม่ถูกวิธี เสี่ยงอัมพาตชั่วคราว

ทาสหมา-ทาสแมว ต้องระวัง! โดน “เห็บกัด” เอาออกไม่ถูกวิธี เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน อัมพาตชั่วคราว

เป็นเรื่องที่ทาสหมา-ทาสแมว ต้องประสบปัญหาอยู่เป็นประจำ สำหรับเรื่องของ “เห็บ” นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญในสัตว์เลี้ยงแล้ว อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้เลี้ยงด้วย โดย  “เห็บ” มีหลายชนิด และเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อ มักอาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูงๆ หรือเกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น หมา หรือ แมว ซึ่งถ้าถูกเห็บกัดจะไม่มีอาการเจ็บ เพราะในน้ำลายของเห็บมีสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ แต่อาการที่เห็นชัดเจน คือมีตุ่มนูนบวมแดง ในบางรายที่มีอาการแพ้อาจมีไข้ หรือผื่นลมพิษกำเริบได้ ดังนั้นการรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยให้หายจากอาการผื่น บวมแดง หรือแม้กระทั่งอาการอัมพาตชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว  


เมื่อถูกเห็บกัดเบื้องต้นให้คีบหัวของเห็บแล้วค่อยดึงออกขึ้นตรง ๆ แต่ต้องระวังอย่าคีบบริเวณลำตัว หรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง จะทำให้อาการเรื้อรังตามมาได้ หลังจากเอาตัวเห็บออกใช้ยาทาลดการอักเสบ บวมแดง ในกรณีที่อาการบวมแดงรุนแรงจำเป็นต้องฉีดยาใต้ผิวหนังแต่ต้องให้แพทย์พิจารณาการรักษาเฉพาะราย โดยทั่วไปอาการที่เกิดจากเห็บกัดมีเพียงอาการเฉพาะที่  พบน้อยมากในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง  เช่น เกิดอัมพาตหลังจากถูกเห็บกัด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวจากนั้นระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต 


ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการอัมพาตมักเกิดหลังจากถูกเห็บกัด 4-6 วัน ดังนั้นควรรีบคีบเห็บออกจากผิวหนังทันทีอาการอัมพาตก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว  


เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามได้ที่ http://www.dms.go.th/ หรือโทร. 02-590-6000


ข้อมูลจาก : กรมการแพทย์

ภาพจาก : กรมการแพทย์ / AFP 

ข่าวแนะนำ