TNN หัวใจวายเฉียบพลัน! เปิดวิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

TNN

Health

หัวใจวายเฉียบพลัน! เปิดวิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หัวใจวายเฉียบพลัน! เปิดวิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หัวใจวายเฉียบพลัน! เปิดวิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาการของโรคหัวใจวายเป็นอย่างไร เช็กที่นี่

หัวใจวายเฉียบพลัน! เปิดวิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาการของโรคหัวใจวายเป็นอย่างไร เช็กที่นี่


โรคหัวใจวายเฉียบพลัน เป็น ภาวะที่หัวใจหยุดการทำงาน หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อย่างเฉียบพลันเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดอุดตันโดยสิ้นเชิง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้


สำหรับอาการที่แสดงให้เห็น ในบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกนำมาก่อน อาจจะร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร จะมีเหงื่อออกอย่างมากจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการวิงเวียน อาเจียน หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หายใจไม่ทัน หากเป็นมากขึ้น จะเกิดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นพลิ้ว หมดสติ และเสียชีวิตได้


อาการของโรคหัวใจวาย

ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจ มีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรที่จะรู้ว่ามีอาการอะไรบ้างและควรที่จะติดตามอาการเหล่านั้น หากอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์อาการต่างๆที่พบได้ คือ

-เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) ถ้าโรคหัวใจเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการ-เหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องปรึกษาแพทย์
-นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea
-อ่อนเพลียง่าย
-เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ
-น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว
-ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพู ปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด
-มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง
-ความจำเสื่อม มีการสับสน
-ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว

วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยหัวใจวาย

1.หากพบว่ามีผู้ป่วยหัวใจวาย หรือมีอาการเข่าข่ายภาวะหัวใจวาย ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือติดต่อ 1669 หรือโรงพยาบาล หรือทีมกู้ภัยใกล้เคียงทันที


2.ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติ ให้สังเกตอาการของผู้ป่วยว่าสามารถหายใจเองได้หรือไม่ ชีพจรเต้นแรงหรือเปล่า หากว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ จัดท่าผู้ป่วยในท่านั่ง หรือนอนราบกับพื้นในท่าที่สบายที่สุด ปลดเสื้อผ้าให้คลายออกเพื่อให้หายใจได้สะดวก เพื่อรอรถพยาบาลมารับ


3.ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ประเมินความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยตรวจดูบริเวณรอบๆ ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมกับให้ตรวจการรู้สึกตัว การหายใจ และปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยการตบไหล่ทั้งสองข้างและเรียกเสียงดังๆ หากไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ หรือหายใจผิดปกติที่เรียกว่า หายใจเฮือก ให้รีบขอความช่วยเหลือและทำการ CPR ทันที


4.จัดท่าผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้นแข็ง โดยให้คุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วยในระดับไหล่ จัดท่าผู้ป่วยนอนหงายเพื่อเปิดทางเดินหายใจโดยการ ดันหน้าผาก - ดึงคางขึ้น และตรวจสอบการหายใจโดยการเอียงหูฟังแนบที่จมูกผู้ป่วย จากนั้นให้เริ่มช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก โดยวางสันมือข้างที่ถนัดบริเวณกึ่งกลางกระดูกหน้าอกระดับเต้านม และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้แขนเหยียดตรง ไม่งอแขน ในอัตราความเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที และทำไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว หรือจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง


5.หากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators: AED) สามารถนำมาใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจ หมดสติ ผู้ไปพบต้องมีสติ อย่าตื่นเต้นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่จะทำได้ รวมถึงพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ โรงพยาบาล ที่ใกล้ที่สุด ก็จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น





ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลนครธน / โรงพยาบาลวิภาวดี

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ