"ชูวิทย์" ป่วยมะเร็งตับ เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงโรคร้าย ระยะแรกมักไม่แสดงอาการ!
"มะเร็งตับ" โรคเงียบที่คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด เช็กอาการและปัจจัยเสี่ยงโรคร้ายที่ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" กำลังเผชิญ
"มะเร็งตับ" โรคเงียบที่คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด เช็กอาการและปัจจัยเสี่ยงโรคร้ายที่ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" กำลังเผชิญ
หลังจาก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองนั้นกำลังป่วย โรคมะเร็งตับ หมอบอกมีเหลือเวลา 8 เดือน ซึ่งตนเองไม่เลือกวิถีชีวิตที่ต้องกินตามหมอสั่งเพราะกินแล้วก็ไม่หาย ซึ่งเหมือนว่าถ้ามันไม่หายก็ซ้ำไปเลยให้มีความสุขในวันนี้เราต้องมีความสุข ฉะนั้นตนจึงอยากจะบอกกับทุกคนว่า ไวน์ขวดละ 3 แสน รีบเปิดกินเลยนะ กินซะตั้งแต่วันนี้
เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะได้กินหรือเปล่า นั้นคือการนิยามการใช้ชีวิตของตนเอง บางคนก็อาจจะไม่ได้ใช้ ดังนั้นชีวิตใครชีวิตมันเมื่อตนเลือกวิถีทางนี้แล้วมันเป็นวิถีทางปลายทางของตนซึ่งตนเป็นคนใช้ชีวิตแบบนี้ “เลือกเอาความสุขในวาระสุดท้าย” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ทำความรู้จัก โรคมะเร็งตับ
มะเร็งตับ (Hepatocellular Carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย เรียกว่า มะเร็งเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) และถ้าเนื้องอกเกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติจะเรียกว่า มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma)
ในขณะที่เนื้องอกร้ายในเนื้อตับของผู้ป่วยบางรายเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดในอวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายมายังตับ เรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย (metastatic liver cancer) ซึ่งอาจมีต้นตอของเซลล์มะเร็งมาจากเนื้องอกร้ายของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม หรือปอด เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ
-เพศชาย
-ประชากรในประเทศเอเชียตามมาด้วยกลุ่มลาตินอเมริกา
-ผู้ป่วยที่มีประวัติไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
-ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะไขมันเกาะตับจนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ, กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีเรื้อรัง, หรือกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ
-การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
-การสูบบุหรี่
-โรคอ้วน เบาหวานและกลุ่มโรคเมตาบอลิก
-การได้รับสารพิษชนิด Aflatoxins
-การได้รับสาร vinyl chloride และ thorium dioxide ที่พบในอุตสาหกรรมพลาสติกมาเป็นเวลานาน
-การใช้ฮอร์โมนประเภท anabolic steroids เช่น ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างผิดวิธี
ควรเข้ารับการตรวจเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์หารอยโรคผิดปกติในเนื้อตับ หรือร่วมกับการตรวจเลือดวัดระดับ alfa-fetoprotein (AFP) และถ้าการตรวจนี้พบความผิดปกติสงสัยเนื้องอกในตับ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจภาพรังสีวินิจฉัยของตับเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography) หรือภาพเสียงสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
อาการโรคมะเร็งตับ
ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ในระยะแรกของโรค มักไม่มีอาการผิดปกติ เมื่อก้อนเนื้อร้ายมีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
-ปวดจุกบริเวณชายโครงขวาหรือช่องท้องส่วนบน
-เบื่ออาหาร
-น้ำหนักตัวลดลง
-ท้องมาน
-ขาบวม
-ปัสสาวะมีเหลืองเข้ม
-ตาและตัวเหลือง หรือดีซ่าน
ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมะเร็งตับมาพบแพทย์ด้วยอาการเหล่านี้ มักตรวจพบเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือเป็นมะเร็งในระยะลุกลาม การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีอาการชัดเจน จะสามารถให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆ ได้ผลดีขึ้น
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลศิริราชฯ
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์/ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์