"โรคปอดอักเสบในเด็ก" ติดต่อกันได้อย่างไร แนะวิธีป้องกัน
"โรคปอดอักเสบในเด็ก" ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ติดต่อกันได้อย่างไร แนะวิธีป้องกัน
"โรคปอดอักเสบในเด็ก" ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ติดต่อกันได้อย่างไร แนะวิธีป้องกัน
โรคปอดอักเสบในเด็ก หรือ ปวดบวม อีกหนึ่งโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน และ ฤดูหนาว เป็นโรคที่อันตรายทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด รวมทั้งเนื้อเยื้อรอบถุงลมและถุงลม ส่งผลให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจลดลง เกิดความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลม ในเด็กบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เป็นโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้
เด็กกลุ่มใดเสี่ยงปอดอักเสบ?
เด็กที่เสี่ยงโรคปอดอักเสบ ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กตั้งแต่แรกคลอด - 5 ปี เด็กมีความพิการทางสมอง มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กไม่ได้กินนมแม่ ไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
ซึ่งโรคปอดอักเสบในเด็ก สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น หายใจเอาเชื้อเข้าปอดจากคนที่ไอ หรือจามใกล้กันแล้วไม่ได้ปิดปากโดยฉพาะเมื่ออยู่ในที่แออัด โดยการสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด หรือแม้กระทั่งโดยการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด เป็นต้น
ปอดอักเสบ ติดต่อกันได้อย่างไร
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน การสำลักเอาสารเคมี หรือเศษอาหารเข้าปอด การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา การให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่นๆ เป็นต้น
ป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็กได้อย่างไร?
ป้องกันโรคดังกล่าวได้ โดย การหลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆ
ที่สำคัญ คือ เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) ไอกรน รวมถึงวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัสหรือฮิบ วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
โรคปอดอักเสบในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อย และในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้ หากสงสัยว่าบุตรหลานเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อก็ควรพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ที่มา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ / โรงพยาบาลนครธน
ภาพจาก AFP