TNN ป่วยเบาหวานต้องรู้! เปิดวิธีดูแลแผลที่เท้า ป้องกันการถูก "ตัดขา"

TNN

Health

ป่วยเบาหวานต้องรู้! เปิดวิธีดูแลแผลที่เท้า ป้องกันการถูก "ตัดขา"

ป่วยเบาหวานต้องรู้! เปิดวิธีดูแลแผลที่เท้า ป้องกันการถูก ตัดขา

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องรู้! เปิดวิธีดูแลแผลที่เท้า ป้องกันการถูก "ตัดขา" สิ่งที่ควรทำ และ ควรหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้างเช็กเลย

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องรู้! เปิดวิธีดูแลแผลที่เท้า ป้องกันการถูก "ตัดขา" สิ่งที่ควรทำ และ ควรหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้างเช็กเลย


โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติในการผลิตหรือตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตาสูญเสียการมองเห็น ไตวายเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ชาปลายมือปลายเท้า รวมถึงเป็นแผลหายยาก บางรายอาจจำเป็นต้องตัดขา


การดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันการถูกตัดเท้า


-มีผู้ป่วยเบาหวานถึงร้อยละ 20 ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากมีแผลที่เท้า
-โรคเบาหวานเป็นสาเหตุของการถูกตัดเท้าหรือขา ร้อยละ 40-70
-ผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดเท้าร้อยละ 85 เริ่มจากการมีแผลที่เท้ามาก่อน
-ทุกๆ 30 วินาที มีผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียเท้าจากการถูกตัด
-ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าสูงกว่าผู้ไม่เป็นถึง 40 เท่า

เบาหวานและเท้า


ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นประสาทเสื่อม (ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท) และมีภาวะเลือดไปเลี้ยงที่เท้าไม่เพียงพอ (ภาวะขาดเลือด) ซึ่งทั้งสองภาวะนี้เป็นเหตุทำให้เกิดแผลที่เท้าและหายยาก ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อก็อาจต้องลงเอยด้วยการตัดเท้า

การถูกตัดเท้ามักเริ่มจากการมีแผลที่เท้า


ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้บ่อย ในประเทศพัฒนาแล้วพบว่าผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 5 จะมีแผลที่เท้า และมีผู้ป่วยเบาหวาน 1 รายในทุกๆ 6 รายที่เคยเกิดแผลอย่างน้อย 1 ครั้ง ปัญหาที่เกี่ยวกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของการรับผู้ป่วยให้นอนในโรงพยาบาล สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาแบบบ้านเรา ปัญหาเกี่ยวกับเท้าในผู้ป่วยเบาหวานดูจะยิ่งพบบ่อย และรุนแรงยิ่งขึ้น

มีผู้ป่วยที่ถูกตัดเท้าถึงครึ่งหนึ่งที่เป็นเบาหวาน ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องอีก เช่น เชื้อชาติ ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดเท้า ก็ยังพบว่าการถูกตัดเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจะสูงกว่ากรณีอื่นๆ จึงถือว่าการเกิดแผลที่เท้าในเบาหวาน ส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

สำหรับผู้ที่สูญเสียขานั้น พบว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพราะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น อาจต้องสูญเสียงาน และอยู่ในสภาพน่าสังเวช

การดูแลรักษาเท้า


การดูแลรักษาเท้าอย่างดี สามารถป้องกันการถูกตัดเท้า ในผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นส่วนใหญ่ โดยที่ถึงแม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกตัดเท้าได้ แต่ก็สามารถที่จะดูแลรักษาเท้าข้างที่ยังเหลือและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้ โดยการดูแลติดตามที่ดีจากทีมดูแลสุขภาพเท้า


การป้องกันการถูกตัดเท้า 

-การให้ความรู้เพื่อให้สามารถ ตรวจพบปัญหาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
-การให้การบริการฉุกเฉิน
-การตรวจหาภาวะติดเชื้อ และให้การรักษาแต่ต้น
-การควบคุมเบาหวานอย่างดีที่สุด
-การดูแลรักษาแผลโดยผู้เชี่ยวชาญ

สาเหตุของการเกิดแผลที่เท้าในเบาหวานคืออะไร

เส้นประสาทเสื่อม / ถูกทำลาย (ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน)

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท้าชาและเมื่อมีการบาดเจ็บก็อาจไม่ได้สังเกต เพราะไม่รู้สึกเจ็บปวดผิวหนังที่เท้ามักจะแห้งมาก และเกิดรอยแตกได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผลและการติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อมแล้วไม่ได้สวมรองเท้าที่เหมาะสมก็จะยังเกิดแผลง่ายขึ้น

เท้าและนิ้วเท้าผิดรูป

คนเรามีรูปร่างเท้าที่แตกต่างกัน รูปเท้าอาจเปลี่ยนได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการผ่าตัด ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทก็อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปเท้าได้ และยังทำให้มีการเดินแบบผิดปกติที่เพิ่มแรงกระแทกต่อส่วนส้นเท้า ถ้าแรงกระแทกเกิดซ้ำๆ ก็จะทำให้ ผิวหนังบริเวณนั้นหนาแข็งขึ้น (ตาปลา) ซึ่งตาปลานั้นจะทำให้แรงกดเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดแผลภายใต้ตาปลานั้นได้

ภาวะขาดเลือดหล่อเลี้ยง (ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดส่วนปลายจากเบาหวาน)

ถ้าเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนเท้าได้น้อย หรือไม่เพียงพอ จะทำให้แผลหายยาก เพราะเท้าต้องการออกซิเจนและสารอาหารที่ลำเลียงมาทางเส้นเลือด ภาวะขาดเลือดจะเพิ่มความเสี่ยงให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและตายได้ ซึ่งจะทำให้เท้าส่วนนั้นกลายเป็นสีดำได้

ภาวะบาดเจ็บ (อาจเริ่มจากเล็กน้อย)

ผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อมจะเกิดบาดเจ็บได้ง่าย เพราะจะไม่รู้สึกเจ็บปวดซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอันตราย แผลมักเกิดจากมีเศษกรวดทรายหรือชิ้นส่วนแปลกปลอมภายในรองเท้า ตะเข็บด้านในรองเท้า วัตถุมีคมที่แทงทะลุพื้นรองเท้าขึ้นมา ตุ่มพองจากการเสียดสีของรองเท้าหรือไฟลวก น้ำร้อนลวก การเดินเท้าเปล่าก็จะยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บให้รุนแรงขึ้น เนื่องจากโดนวัตถุแหลมคมทิ่มตำ หรือสะดุดนิ้วเท้าของตนเองได้ง่าย

ภาวะติดเชื้อ

เมื่อผิวหนังมีรอยปริแยก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปก่อภาวะติดเชื้อได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาที่เท้าหรือขาดเลือดไปเลี้ยง จะยิ่งทำให้แผลหายยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกลไกคต่อต้านภาวะติดเชื้อเสื่อมด้วย บางครั้งกว่าจะพบว่าภาวะติดเชื้อเกิดขึ้นก็เป็นค่อนข้างรุนแรงแล้ว

เราสามารถป้องกันการเกิดแผลได้อย่างไร


การดูแลเท้าที่ดีสามารถป้องกันการแผลและถูกตัดเท้าได้ร้อยละ 45-85 ผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อม หรือขาดเลือดไปเลี้ยงเกิด ควรใช้คำแนะนำต่อไปนี้

พึงกระทำ

-ตรวจเท้าทุกวัน สำรวจรอยขีดข่วน รอยบาด ตุ่มน้ำพอง รอยฟกช้ำ หรือมีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป อาการบวมและแผลเปิด ถ้ามีควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลรับทราบทันที อาจใช้กระจกเงาหงายดูฝ่าเท้า หรือถ้าไม่สะดวกควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
-ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่กับน้ำเปล่าทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า จากนั้นเช็คหรือเป่าให้แห้งอย่างระมัดระวัง ใช้น้ำมันหรือโลชั่นทาผิวหนังบริเวณเท้า เพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้า
-ตรวจสอบภายในรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะเศษก้อนหิน วัตถุแหลมคม หรือสังเกตว่ามีส่วนที่ขรุขระมาขูดข่วนเท้าหรือไม่
-ควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี บาดเจ็บ โดยถุงเท้า ไม่ควรจะรัดแน่นเกินไปและไม่มีรูโหว่
-เลือกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ในช่วงบ่าย เพื่อให้เท้าขยายตัวเต็มที่และเลือกรองเท้าได้ขนาดที่เหมาะสมพอดีกับเท้า
-ตรวจสอบเท้าโดยทีมดูแลสุขภาพเป็นระยะ
-ตัดเล็บเท้าตรงในแนวขวาง แล้วใช้ตะไบลมคมที่ปลายเล็บ
-ถ้ามีแผล ควรทำความสะอาดและปิดแผลด้วยวัสดุที่ฆ่าเชื้อแล้ว
-ระมัดระวังโดยสวมรองเท้าทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน หรือนอกสถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายต่อเท้า

พึงหลีกเลี่ยง

-ควรเลี่ยงรองเท้าปลายแหลม ส้นสูง มีรูเปิด ไร้สายรัด หรือไม่หุ้มส้นด้านหลัง
-ไม่สวมถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป
-ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเครื่องทำความร้อนประคบหรือเป่าที่เท้า
-หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหยียบย่ำบนผิวทางเดินที่ร้อนจัด
หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาตาปลา ยาจี้หูด หรือมีดโกนกับเท้าด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
--ลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
-งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงเท้าน้อยลง
-ไม่สวมเครื่องประดับที่เท้า

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า

-ลดการลงน้ำหนักที่เท้า
-แก้ไขภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่เท้า
รักษาภาวะติดเชื้อ
-ควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และระดับความดันให้ดี
-ทำความสะอาดแผล และทำแผล รวมถึงการตัดเอาเนื้อเยื่อชิ้นส่วนที่บาดเจ็บ และตายแล้วออก
-อบรมความรู้ให้ผู้ป่วยเบาหวานและญาติ
-หาสาเหตุการเกิดแผล และช่วยหาวิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 


ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ที่รักษา ห้ามปรับยาเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเท้าด้วยตัวเอง หากเป็นแผลควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ 


การป้องกันโรคเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้ 


1.เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม  

2.ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง  

3.ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน  

4.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  

5.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป 

ควรตรวจสุขภาพทุกปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422





ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท / กรมควบคุมโรค 

ภาพจาก รอยเตอร์/TNN Online

ข่าวแนะนำ