รู้จัก "โรคหลอดเลือดอักเสบ" เกิดจากอะไร มีอาการและรักษาอย่างไร?
รู้จัก โรคหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) สาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการและรักษาอย่างไร เปิดคำแนะนำในการดูแลโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง
รู้จัก โรคหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) สาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการและรักษาอย่างไร เปิดคำแนะนำในการดูแลโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง
หลังจากมี ผู้ใช้ TikTok ชื่อ aren_love25 โพสต์แชร์อาการป่วยหลังจากเกิดตุ่มใสๆที่เท้า สู่การกลายเป็นเส้นเลือดอักเสบเดินไม่ได้ 10 วัน ต้อง นอนโรงพยาบาลนาน 13 คืน ฉีดยาทุก4 ชั่วโมง วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคนี้กัน
โรคหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) คือกลุ่มโรคที่มีการอักเสบเกิดขึ้นกับหลอดเลือดเป็นลักษณะเด่น โดยอาจเกิดได้ที่หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดฝอย ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยงทำงานผิดปกติ การอักเสบอาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดของอวัยวะในร่างกายเพียงอวัยวะเดียว หลายอวัยวะ หรือบางชนิดมีอาการเฉพาะที่ผิวหนัง โรคกลุ่มนี้พบไม่บ่อย พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง ในอายุที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรค
สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
อาการและอาการแสดง
โรคในกลุ่มโรคหลอดเลือดอักเสบมีอาการและอาการแสดงในระบบอวัยวะต่างๆ ที่จำเพาะต่อโรคแตกต่างกันไป ผู้ป่วยอาจมีอาการทั่วไป ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อ เส้นเลือดอักเสบที่ผิวหนังทำให้เกิดผื่นแดงนูนคล้ายจุดเลือดออก อาจพบผื่นเป็นจ้ำเลือดนูน ปื้นนูนแดงเหมือนลมพิษ ผื่นชนิดเรียบสีม่วงแดงรูปร่างเป็นร่างแห คล้ายตาข่าย หรืออาจปรากฏเป็นตุ่มน้ำใส เป็นแผลถลอก หรือผิวหนังเกิดเนื้อตายก็ได้ โดยมักเกิดที่บริเวณขาทั้งสองข้าง
ผื่นส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจคันหรือเจ็บได้ อาการในระบบอื่น ๆ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด, อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายดำ, อาการทางไต ทำให้ตรวจพบปัสสาวะผิดปกติ
การวินิจฉัยแยกโรค
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอยางละเอียด เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในที่อาจพบร่วมด้วยและเพื่อตรวจหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ การตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนังส่งตรวจทางพยาธิวิทยาทำให้สามารถแยกประเภทต่าง ๆ ของกลุ่มโรคนี้ได้ การตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่ช่วยวินิจฉัยแยกโรคได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อดูเม็ดเลือดแดง การตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี การตรวจหาแอนติบอดี้ที่จำเพาะต่อโรค การตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ซึ่งจะตรวจมากหรือน้อย ขึ้นกับอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก
การรักษา
-การรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีอาการทางระบบต่าง ๆ มากน้อยรุนแรงเพียงใด หรือมีโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุร่วมด้วยหรือไม่
-ผื่นที่เป็นเฉพาะที่ผิวหนังและอาการไม่มาก การพักผ่อนให้เพียงพอ ยกขาให้สูง ก็จะช่วยให้ผี่นหายได้
-ผื่นที่เป็นมากเรื้อรัง หรือมีอาการปวดข้อ อาจให้ยารับประทาน เช่น การให้ยาลดการอักเสบชนิดโคชิซิน (colchicine) ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านฮีสตามีน
-ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องควบคุมโรคด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันต้านทานอื่น ๆ
การพยากรณ์โรค
หลอดเลือดอักเสบเฉพาะที่ผิวหนังมักมีอาการไม่รุนแรง ผื่นส่วนใหญ่จะหายไปได้เองในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ และอาจกลับเป็นซ้ำได้อีกภายในระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี
โรคหลอดเลือดอักเสบที่เป็นในอวัยวะในระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ระบบไตหรือหัวใจ อาจมีความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้จากตัวโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา
คำแนะนำในการดูแลโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอักเสบ ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการต่างๆจากโรค ประเมินชนิดยาและขนาดยาที่ใช้รักษา และเพื่อติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยา หรือซื้อยากินเอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ยาหม้อต่าง ๆ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิต้านทาน ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปในสถานที่แออัด และหากเกิดอาการข้างเคียงจากยา เช่น อาการถ่ายดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
ที่มา รามาแชนแนล Rama Channel
ภาพจาก รามาแชนแนล Rama Channel / aren_love25