ความเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิด "โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง" เช็กอาการบอกโรค ป้องกันอย่างไร อ่านที่นี่
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิด "โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง" เช็กอาการบอกโรค ป้องกันอย่างไร อ่านที่นี่
โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเนื้อเยื่อร่างกายของตนเอง แต่สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่ยังพอสามารถระบุพฤติกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคพุ่มพวงอยู่หลายสาเหตุ โรคนี้ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและเคร่งครัดเนื่องจากอาการที่กำเริบอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทำไมจึงเรียกว่าโรคพุ่มพวง
โรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นชื่อในเชิงทางการ แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” ซึ่งเรียกตามกันมาจากชื่อของนักร้องไทยชื่อดังในอดีต “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ที่ป่วยเป็นโรคนี้ และเสียชีวิตลงในเวลานั้น ทำให้หลายคนจำชื่อโรคของพุ่มพวงมาจนถึงปัจจุบัน
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพุ่มพวง
-เกิดจากการใช้ยา และสารเคมีต่าง ๆ หรือยาประเภทควบคุมความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
-เกิดจากฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในบางครั้งจะส่งผลด้วย เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงที่เติบโตในแต่ละวัย เป็นต้น
-การถ่ายทอดพันธุกรรม โรคหรืออาการบางชนิดที่เกิดในวงเครือญาติอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพุ่มพวงได้
-ปฏิกิริยาต่อแสงแดด สำหรับคนที่มีผิวหนังไวต่อแสงแดดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ดังกล่าวได้
อาการของโรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
อาการของโรคนี้มีอยู่หลายระดับ ถึงแม้จะรักษาได้แต่ในผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะรักษาไปแล้วอาการจะยังคงอยู่แบบถาวร โดยอาการดังกล่าวมีอยู่หลายแบบดังนี้
-มีการตรวจพบแอนติบอดีต่อดีเอ็นเอ (anti-dsDNA) หรือการตรวจพบแอนติฟอสโฟไลปิดแอนติบอดี หรือการตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส
-หากมีการตรวจเลือดจะพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดี (antinuclear antibody)
-ผื่นผิวหนังบริเวณใบหน้า ใบหู แขนขา และลำตัว
-มีผื่นบริเวณใบหน้าเป็นรูปผีเสื้อ
-อาการซีด จากเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ
-หากโดนแดดจะมีผื่นผิวหนังแดงอย่างรุนแรง
-เกิดอาการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจหรือเยื่อหุ้มสมอง
-ไตอักเสบ
-มีแผลในปาก
-มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการชัก เป็นต้น
-ข้ออักเสบ
หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไปอาจเป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพุ่มพวงได้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่แน่นอน
โรคพุ่มพวงรักษาได้ไหม
โรคนี้สามารถรักษาได้แต่ต้องใช้เวลานานพอสมควร อีกทั้งยังต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการดูแลตนเอง ดังนี้
อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
-หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-ในการติดตามอาการ และการเฝ้าระวังอาการที่กำเริบถือว่าสำคัญอย่างมากเนื่องจากบางอาการหากอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคพุ่มพวงป้องกันอย่างไร
โรคนี้เป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างชัดเจน ทำให้การป้องกันไม่สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเรายังสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคได้อยู่ ถือเป็นการป้องกันที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ห่างไกลโรคนี้
ด้วยการป้องกันและรักษาอย่างยากลำบากการดูแลตนเองของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การมีวินัยตลอดการรักษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้