เปิดสาเหตุ “กระดูกสันหลังคด” เกิดจากอะไร-รักษาได้หรือไม่?
เปิดสาเหตุ “กระดูกสันหลังคด” อาการของโรคเกิดจากอะไร-สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
นับว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามสำหรับ “กระดูกสันหลังคด” คนไทยเป็นโรคนี้กันมาก 2 – 3 % ของประชากรทั้งหมด โดยพบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ แต่ที่พบมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่นส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ
โรคกระดูกสันหลังคด คืออะไร
กระดูกสันหลังคด เป็นการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังจากปกติ ที่โค้งงอไปด้านหน้าและหลังเล็กน้อย กลายเป็นโค้งงอ คดงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน มีลักษณะคล้ายตัว C หรือตัว S ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากร่างกายเสียสมดุล
สาเหตุการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด
1.โรคกระดูกสันหลังคดตั้งแต่แรกเกิด ขณะแม่ตั้งครรภ์ตัวอ่อนในครรภ์มีกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ
2.โรคกระดูกสันหลังคดจากโรคทางระบบประสาทหรือระบบกล้ามเนื้อผิดปกติ
3. โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ มักเกิดจากการมีความยาวของเข่าไม่เท่ากัน สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยต่าง ๆ ได้แก่
- ในวัยทารก ก่อนอายุ 3 ปี
- ในวัยเด็ก อายุระหว่าง 4 – 10 ปี
- ในวัยรุ่น อายุระหว่าง 10 – 18 ปี พบมากที่สุด
4.โรคกระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด จากความผิดปกติตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การบาดเจ็บ
5. โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมมักพบในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ จากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังที่ใช้งานเป็นเวลานาน
อาการ โรคกระดูกสันหลังคด เป็นอย่างไร?
แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน ด้านหลังนูนทำให้คิดว่าหลังโก่ง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการปวดหลัง นอกจากการตรวจดูลักษณะที่ผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และส่งตรวจทางรังสีเพื่อการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของกระดูกสันหลังคด รวมทั้งพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
อาการ โรคกระดูกสันหลังคด ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?
- ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เกิดเฉพาะในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดรุนแรง กระดูกสันหลังผิดรูปมาก
- ปัญหาเกี่ยวกับหลัง ผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็กมีแนวโน้มว่าจะปวดหลังเรื้อรังมากกว่าคนปกติทั่วไป
- ปัญหาเกี่ยวกับการกังวลรูปลักษณ์ เมื่ออาการของโรคแย่ลง สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน ซี่โครงยื่นออกมาผิดปกติ เอวและลำตัวเบี้ยว
วิธีการรักษา โรคกระดูกสันหลังคด
1.ใส่เสื้อเกราะ จนกว่าผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต และค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงจนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้น
2.รักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังคดมากกว่า 45 องศา และยังไม่หยุดการเจริญเติบโต หรือมีความคดมากกว่า 50 - 55 องศาในผู้ป่วยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังในการจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็ง โดย ภายหลังการผ่าตัด ต้องงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังมาก เช่น การก้มตัว การบิดตัว นานประมาณ 3 - 6 เดือน แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพจาก : AFP