TNN รู้จัก “สารให้ความหวาน” คืออะไร? มีประโยชน์ไหม-ช่วยคุมน้ำหนักได้จริงหรือ?

TNN

Health

รู้จัก “สารให้ความหวาน” คืออะไร? มีประโยชน์ไหม-ช่วยคุมน้ำหนักได้จริงหรือ?

รู้จัก “สารให้ความหวาน” คืออะไร? มีประโยชน์ไหม-ช่วยคุมน้ำหนักได้จริงหรือ?

ทำความรู้จัก “สารให้ความหวาน” คืออะไร มีประโยชน์-ข้อเสียอย่างไรบ้าง หลัง WHO ออกแนวทางใหม่ไม่แนะนำให้ใช้เพื่อคุมน้ำหนัก

วันนี้ ( 24 พ.ค. 66 )จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกแนวทางใหม่เกี่ยวกับสารให้ความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาล (NSS) โดยไม่แนะนำให้ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว หรือ ลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ ( NCDs)

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การใช้สารแทนความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาลไม่ได้ให้ประโยชน์ในระยะยาวในการลดไขมันในร่างกายทั้งในผู้ใหญ่หรือเด็ก  เรามาดูกันว่า “สารใ้ห้ความหวาน” นั้นคืออะไร มีกี่ประเภท และ มีที่มาจากอะไรบ้าง 


สารให้ความหวานคืออะไร?


สารให้ความหวาน เป็นสารที่ใช้แต่งรสหวาน ปัจจุบันถูกนำมาใช้ ในการปรุงอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง เช่น หมากฝรั่ง, ขนมพุดดิ้ง, เครื่องดื่ม เช่นน้ำผลไม้, น้ำอัดลม, ชา, กาแฟ, น้ำเชื่อม เป็นต้น

สารให้ความหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

1.สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน  ได้แก่ ฟรุกโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลจากผลไม้, มอลทิทอล, ซอร์บิทอล และไซลิทอล

2.สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน หรือ “น้ําตาลเทียม”  ได้แก่ ซูคราโลส, สตีเวียหรือสารสกัดจากหญ้าหวาน, แอสปาแตม, อะซิซัลเฟม-เค, แซคคารีนหรือขัณฑสกร 


ข้อดี-ข้อเสียของสารให้ความหวานประเภทต่างๆ


1. แอสปาแตม

- เป็นน้ำตาลเทียมที่ทำจากสารเคมีเป็นส่วนใหญ่ จะให้ความหวานกว่าน้ำตาลธรรมชาติถึง 200 เท่า มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายแต่จะทิ้งรสขมเล็กน้อยหลังจากทาน มีงานวิจัยเชื่อมโยงแอสปาร์เทมเข้ากับอาการปวดไมเกรนในผู้ใช้บางคน และความเป็นสารเคมีเมื่อบริโภคไปนานๆอาจให้ผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ 

2.ซูคราโลส

- ซูคราโลส คือให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาล อร่อยไม่มีรสขมติดลิ้นและไม่ให้พลังงาน ละลายน้ำได้ดี ใช้ปรุงอาหารและขนมทุกชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูงและไม่สูญเสียความหวาน มีข้อเสียคือ อาจทำให้กระเพาะของเราไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ด้วยในบางคน

3.หญ้าหวาน

-   เป็นสารแทนความหวานที่เป็นธรรมชาติที่สุด ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 250 – 300 เท่า แต่ไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงาน จึงทำให้มีพลังงานน้อยมาก ทั้งนี้ หญ้าหวานน่าจะเป็นสารทดแทนความหวานที่ปลอดภัย และยังไม่มีรายงานข้อแทรกซ้อนจากการใช้ และได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุญาตให้นำสารสกัด stevioside มาขึ้นทะเบียนเป็นสารหวานแทนน้ำตาลได้ 

4.ไซลิทอล 

- เป็นน้ำตาลน้ำตาลแอลกอฮอล์ธรรมชาติ พบได้ในพืช ผัก ผลไม้หลายชนิด อาทิ สตรอเบอร์รี่ ต้นเบิร์ช ไซลิทอล มีคุณสมบัติในการช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลายซึ่งเป็นตัวสภาวะความเป็นกรดในช่องปากให้เป็นกลาง ช่วยลดโอกาสของการเกิดฟันผุลงอีกทางหนึ่ง หลายๆ ประเทศชั้นนำในยุโรป และอเมริกาจึงมีการนำไซลิทอลมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมากฝรั่งเพื่อช่วยลดปัญหาฟันผุ


สารให้ความหวานช่วยคุมน้ำหนักได้จริงหรือ? 


ล่าสุดฟรานซิสโก บรางก้า ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO ระบุว่า การใช้สารให้ความหวานแทนสารความหวาน เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมธรรมชาติ ไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาว นอกจากนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริโภคอาหารและไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผู้คนควรลดความหวานของอาหารโดยสิ้นเชิงตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น



ข้อมูลจาก  :  กรมอนามัย , คลังความรู้ SciMath

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ