จัดตั้งรัฐบาล 2566 ถก 8 พรรคร่วม 30 พ.ค.จัดเก้าอี้ครม.
ยังต้องลุ้น 30 พค. นี้ 8 พรรคร่วมนัดหารือจัดสรรโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี พร้อมยังต้องจับตา ข้อสรุปประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าสุดท้ายจะพูดคุยและได้ข้อสรุปอย่างไร ซึ่งล่าสุด นายชัยธวัช ออกมาระบุ ไม่ขอพูดเรื่องดังลก่าวผ่านสื่อหวั่นเสียการใหญ่ ขอหารือเป็นการภายใน
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า ณ วันนี้ต้องเดินให้ดีที่สุด ช่วงนี้ได้พูดคุยกับทางพรรคเพื่อไทย แล้วว่า จะมีการดาวน์เรื่องประธานสภาลง คงจะไม่พูดคุยผ่านสื่อแล้ว แต่เป็นการคุยกันภายในจะดีกว่า เพราะหวั่นว่าจะเสียงานใหญ่ ทั้งนี้ ยังมีเวลาอีกกว่า 1 เดือน ที่จะหาข้อยุติ โดยหลังจากเอ็มโอยูผ่านไปแล้ว มีวาระหลักต้องมาลงในรายละเอียดว่า มีอะไรที่ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง ใครจะรับผิดชอบตรงไหน ต้องมีการเซตเป็นทีมขึ้นมา ตรงนี้ก็จะเริ่มลงตัว ซึ่งในวันอังคารที่ 30 พ.ค.นี้ จะมีการนัดประชุมกันอย่างเป็นทางการของ 8 พรรคร่วม ที่พรรคประชาชาติ ช่วงเวลา 14.30 น.
ซึ่งหลังจากนี้ คงจะมีการสลับกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละพรรค ไปที่พรรคประชาชาติบ้าง พรรคเพือ่ไทยบ้าง ก้าวไกลบ้าง และพรรคเสรีรวมไทย เพื่อพูดคุยลงรายละเอียดเรื่องการทำงานร่วมกัน ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นทางการ แล้วก็เตรียมความพร้อมในการบริหาร เพราะนโยบายแต่ละเรื่องต้องพูดคุยกัน เช่น พรรคเป็นธรรม มีวาระเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องมาพูดคุยรายละเอียดว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เป็นต้น
นายชัยธวัช ระบุด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าการเตรียมพร้อมตั้งรัฐบาลขณะนี้ ลุล่วงเกินร้อยละ 50 แล้ว ที่เหลือตอนนี้คือลงรายละเอียด ประเด็นการตั้งรัฐบาลหลัก ๆ จะอยู่ที่ ส.ว.จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ตนคิดว่า ประมาณกลางเดือน มิ.ย. น่าจะประเมินออก เพราะการเดินสายคุย กับ ส.ว. ก็มีการนัดคุยกันทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 30 พ.ค. นี้ เวลา 14.30 น. พรรคก้าวไกล ได้แจ้งกำหนด การว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมือง จะมีการประชุมพูดคุยแนวทาง และแผนงานการทำงานร่วมกันหลังการลงนามเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในวันดังกล่าวจะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลว่า สัดส่วนรัฐมนตรีของแต่ละพรรคจะได้กี่ที่นั่ง และจะได้รัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง ที่สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย.เองได้เริ่มมีการพูดคุยเรื่องวางตัวรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคแล้ว แต่ยังไม่สรุปอย่างเป็นทางการว่าบุคคลใดจะเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงใดบ้าง
ทั้งนี้ โดยสูตรคำนวณแบ่งรัฐมนตรีจะคิดจากจำนวน ส.ส. หารด้วย 8.6 ต่อรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ 14 ที่นั่งบวก 1 เก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้ 14 เก้าอี้ พรรคประชาชาติ ได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย ได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย ส่วนพรรคเล็กที่มี ส.ส. 1-2 ที่นั่งนั้น ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อรวมเสียงแล้วอาจจะไม่ถึงสูตรที่กำหนดไว้ ก็อาจจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งประธานสภายังไม่มีการพูดคุยในวันที่ 30 พ.ค. เพราะเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลต้องพูดคุยกันเองไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอื่น แต่แกนนำพรรค พท.มองว่าจะต้องมีการหารือกันด้วยเหตุด้วยผล