อีอีซีคาด ก.พ.นี้เริ่มสร้างรันเวย์2 อู่ตะเภา
อีอีซีคาด ก.พ.นี้กองทัพเรือเริ่มสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา ด้าน UTA ขอรัฐประกาศพื้นที่ปลอดอากรเมืองการบิน จูงใจเอกชนเข้าลงทุน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า หลังจากที่กองทัพเรือ (ทร.) ได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) แล้วคือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขณะนี้ยังรอสรุปผลการคัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) ซึ่งอยู่ระหว่างต่อรองราคาเนื่องจากวงเงินยื่นประมูลเกินจากราคากลาง และกรอบงบประมาณ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเพื่อเริ่มก่อสร้างรันเวย์ได้ภายในเดือน ก.พ. 2568
ทั้งนี้ เมื่อกองทัพเรือเริ่มก่อสร้างรันเวย์ ทาง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเริ่มก่อสร้างในส่วนอาคารผู้โดยสารและเมืองการบิน หรือ Airport City โดยไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะการพัฒนาเมืองการบินจะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางขึ้นมาได้แน่นอน
นายจุฬากล่าวว่า ประเด็นที่ UTA ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจน คือเรื่องการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภาษีเพื่อเดินหน้าในส่วนของเมืองการบิน เพื่อจูงใจเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เมืองการบิน ที่จะมีทั้งโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารบริการต่างๆ หากนำเข้ามาบริโภคภายในพื้นที่เมืองการบินจะไม่มีอากรนำเข้า
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมให้พื้นที่เมืองการบินเป็นเขตปลอดภาษี แต่ในทางปฏิบัติจะต้องมีการออกประกาศ ยกเว้นอากร สำหรับสิ่งของที่จะนำมาบริโภคในพื้นที่เมืองการบิน ซึ่งทาง UTA อยากให้มีประกาศกรมศุลกากร ประกาศกรมสรรพสามิต เหมือนที่มีประกาศเรื่องสถานบันเทิงเปิด 24 ชม.ในพื้นที่ ซึ่งอีอีซีได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตแล้ว เพื่อดำเนินการออกประกาศในพื้นที่อีอีซีเป็นแพกเกจ
นอกจากนี้ อีอีซี UTA และกองทัพเรือได้มีการหารือร่วมกันในแนวทางที่จะให้ UTA เข้าร่วมบริหารอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับกองทัพเรือ เพื่อสามารถวางการตลาดด้านการบินไว้ล่วงหน้า และเมื่อเปิดสนามบินอู่ตะเภาตามสัญญาสัมปทานในปี 2572 ก็จะทำให้มีเที่ยวบิน Tranfer ไปใช้บริการได้ทันที ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจจะมีการทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและสายการบินเชิงพาณิชย์ และเกิดประโยชน์ต่อสนามบินอู่ตะเภาในภาพรวม
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ