พาณิชย์เผยปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ดันเงินเฟ้อ
"พาณิชย์ "เผยปรับ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มาก ยังทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบร้อยละ 0.3 - 1.3
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” หลังจากคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ที่แบ่งเป็น 17 อัตรา เพิ่มในอัตราวันละ 7 - 55 บาท โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุด คือ วันละ 337 บาท พบว่า จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 0.15 - 0.30 และทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะยังอยู่ในช่วงร้อยละ 0.3 - 1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) ซึ่งถือว่าส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ สนค. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 สินค้าและบริการที่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.0 ของน้ำหนักสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ ค่าการศึกษา เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 สินค้าและบริการที่มีการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และเป็นสินค้าที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ คิดเป็นร้อยละ 25.0 ได้แก่ สินค้าในหมวดเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาล เกลือ น้ำมันพืช)
กลุ่มที่ 3 สินค้าที่มีการใช้แรงงานสูงแต่การส่งผ่านราคาสู่ผู้บริโภคไม่มากนัก คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.0 ได้แก่ สินค้าในภาคการเกษตร ทั้งผักสด ผลไม้สด พืชไร่ และปศุสัตว์
กลุ่มที่ 4 สินค้าและบริการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นประมาณร้อยละ 16.0 ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารจานด่วน อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง และกับข้าวเป็นถุง
กลุ่มที่ 5 ค่าเช่าบ้านและที่พักอาศัย คิดเป็นประมาณร้อยละ 14.0 โดยการปรับขึ้นค่าเช่าบ้าน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน
กลุ่มที่ 6 ค่าบริการที่มีการใช้แรงงานมีฝีมือหรือทักษะสูง คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.0 ได้แก่ ค่าตัดผม ช่างไฟฟ้า ช่างช่างประปา ก่อสร้าง ล้างแอร์ เป็นต้น
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ