TNN กระแสบอยคอต ดัน 'Local Brand' โต กดดัน KFC – Starbucks l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

กระแสบอยคอต ดัน 'Local Brand' โต กดดัน KFC – Starbucks l การตลาดเงินล้าน

การบอยคอตแบรนด์จากชาติตะวันตก ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ โลคัล แบรนด์ เติบโต สร้างแรงกดดันต่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ทั้ง KFC และ Starbucks

นิเคอิ รายงานว่า กว่า 1 ปีของการรณรงค์ การบอยคอยหรือคว่ำบาตร แบรนด์จากชาติตะวันตก ที่เชื่อมโยงหรือถูกมองว่าเชื่อมโยงกับอิสราเอล กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็น เคเอฟซี, แมคโดนัลด์ส, พิซซ่า ฮัท, สตาร์บัคส์ และ ยูนิลิเวอร์ 

แต่ในทางกลับกัน ก็ได้กระตุ้นให้ธุรกิจท้องถิ่นที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่การสำรวจผู้บริโภคของ โกลบอล ดาตา (GlobalData) ซึ่งรายงานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา บอกว่า ผู้บริโภคชาว อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าร่วมการค่ำบาตรในเรื่องดังกล่าว มีสัดส่วนสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 70

หนึ่งในแบรนด์ท้องถิ่นที่กำลังมาแรง เช่น อัลมาซ ฟรายด์ ชิกเกน (Almaz Fried Chicken) เป็น เครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดไก่ทอดในอินโดนีเซีย ที่ได้เปิดร้านทั้งหมด 37 แห่งทั่วประเทศในเวลาเพียงไม่กี่เดือน สาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจาการ์ตา และอีกหลายแห่งอยู่บนเกาะสุมาตรา

การขยายตัวที่รวดเร็วนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดกระแสบอยคอตแบรนด์จากชาติตะวันตกขณะที่ ออกตา วิราวัน (Okta Wirawan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ อัลมาซ กล่าวว่า บริษัทฯ จะยังคงเร่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และเน้นเป้าหมาย เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เคยเข้าร้านของชาติตะวันตกมาก่อน เช่น เคเอฟซี เป็นต้น

และบอกอีกว่า ลูกค้าของทางร้าน ไม่เพียงแต่จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังจะได้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ กับบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นบริจาคกำไรร้อยละ 5 ให้กับการกุศล รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์ ด้วย

ส่วนที่ประเทศ มาเลเซีย ผู้บริโภคจำนวนมากหันหลังให้กับ สตาร์บัคส์ และหันไปอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่น เช่น ซุส คอฟฟี (ZUS Coffee) และ จิจิ คอฟฟี (Gigi Coffee) ซึ่งเป็น แบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่นที่มอบประสบการณ์คล้ายคลึงกับ สตาร์บัคส์ โดยมีที่นั่งสะดวกสบาย มีไวไฟ และนำเสนอเครื่องดื่มที่หลากหลาย

ซึ่งสำหรับ ซุส คอฟฟี นั้น ปัจจุบันมีสาขาอยู่ในมาเลเซียกว่า 554 สาขา และอีก 50 สาขาในฟิลิปปิส์ อีกทั้งมีแผนขยายสาขาในต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ และบรูไนเพิ่มเติมด้วย 

ส่วนร้านกาแฟอิสระในท้องถิ่นก็ได้รับอานิสงค์นี้ด้วยเช่นกัน โดยบาริสต้าจากร้าน อาร์ติซาน โรสต์ คอฟฟี (Artisan Roast Coffee) ซึ่งเป็นร้านกาแฟอิสระในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการรณรงค์บอตคอต ก็พบว่ามีลูกค้าเข้ามาในร้านเพิ่มขึ้น อีกทั้งสังเกตเห็นว่า คนมาเลเซียรุ่นใหม่เปิดรับเทรนด์การดื่มกาแฟ จึงทำให้ทางร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 20 ด้วย

ขณะเดียวกันร้าน ฟอร์ คอฟฟี (Fore Coffee) ในอินโดนีเซีย ก็กำลังใช้ประโยชน์จากกระแสบอยคอตนี้ ผลักดันการเติบโตของธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการรับรองฮาลาล และ 2 เดือนหลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ขึ้น ร้าน ฟอร์ คอฟฟี ที่ได้รับการรับรองฮาลาล ก็เร่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสร้างแบรนด์ในฐานะแบรนด์กาแฟท้องถิ่นชั้นนำ

โดย วิโค โลมาร์ (Vico Lomar) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ของ ฟอร์ คอฟฟี กล่าวกับ นิเคอิ เมื่อเดือนที่แล้ว บอกว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น การได้รับการรับรองฮาลาลนี้จึงผลักดันยอดขายให้กับทางร้านเป็นอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ว่า การบอยคอยแบรนด์จากชาติตะวันตก ทำให้ผู้คนหันมาชื่นชอบโลคัล แบรนด์ กันมากขึ้น 

มีรายงานข่าวด้วยว่า แบรนด์ข้ามชาติ กำลังรู้สึกถึงแรงกดดันมากขึ้น เนื่องจากชาวอินโดนีเซีย และมาเลเซีย พยายามที่จะแสวงหาทางเลือกอื่น ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่อาจนำไปสู่การถูกชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะยาว ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์และทำธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตน

นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว สื่อท้องถิ่นในอินโดนีเซีย รายงานว่า บริษัทฟาสต์ ฟู้ด อินโดนีเซีย ผู้บริหาร เคเอฟซี อินโดนีเซีย รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมา พบว่ามีผลขาดทุนพุ่งสูงขึ้น และปีที่ผ่านมามีการปิดสาขาร้านกว่า 10 แห่ง รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 2,000 คน โดยบริษัทดังกล่าว รายงานว่า การขาดทุนเกิดจาก 2 ปัจจัย คือจากการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ที่เกิดจากความรู้สึกของสาธารณชนเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และอีกปัจจัยเกิดการฟื้นตัวที่ล่าช้าจากการระบาดของโควิด 19 

กระแสการบอตคอย หรือ แบนสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่แค่ธุรกิจฟาสต์ฟูด และร้านกาแฟเท่านั้น แต่แบรนด์น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งโค้ก และเป๊ปซี่ ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันนี้ โดยมีแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง โคลา ตุรกา (Cola Turka / โคลา เติร์ก) กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศตุรกี(ตุรเคีย)

โดย โคลา ตุรกา เป็นแบรนด์เครื่องดื่มอัดลมชื่อดังของตุรกี ที่ปัจจุบันมีเจ้าของเป็นญี่ปุ่นคือ ไดโด กรุ๊ป โฮลดิ้ง (DyDo Group Holdings) ปีที่ผ่านมา แบรนด์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา เพราะตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกันยายน มียอดขายพุ่งขึ้นมากกว่า 10 เท่า ซึ่งเติบโตขึ้นหลังจากผู้บริโภคแบนสินค้าจากสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวาง อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในฉนวนกาซา

เว็บไซต์ ตุรกี ทูเดย์ รายงานว่า การรณรงค์คว่ำบาตรที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนั้น ส่งผลให้ความสนใจในแบรนด์โคลา ที่ผลิตในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันไปนิยมสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศ ซึ่งรวมถึง โคลา ตุรกา ที่มียอดขายเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ยังปูทางให้แบรนด์มีความสามารถ ในการยกระดับสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ ของการส่งออกเครื่องดื่มที่ผลิตในท้องถิ่นของตุรกี

สำหรับแบรนด์ โคลา ตุรกา เปิดตัวขึ้นในปี 2003 ด้วยการเป็นแบรนด์เตอร์กิชที่แข็งแกร่ง โดย ยิลดิซ โฮลดิ้ง (Yildiz Holding) และต่อมาในปี 2015 ถูกขายให้กับ ไดโด ดรินโค (DyDo Drinco) ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มของญี่ปุ่น ร่วมกับแบรนด์เตอร์กิชอื่น ๆ เช่น ซากา และ คัมลิกา (Saka and Camlica) และมี ไดโด กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้นอยู่ 1 ใน 3 ของแบรนด์ 

การที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็มาจากกระแสการบอยคอต ทำให้เครื่องดื่มในประเทศน่าดึงดูดใจผู้บริโภคชาวตุรกีมากขึ้น 

สำหรับ ไดโด ดรินโค ตุรกี (DyDo Drinco Türkiye) ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญที่สุดในตลาดเครื่องดื่มระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว ด้วยโรงงานผลิต 5 แห่งและพนักงานประมาณ 600 คน บริษัทคิดเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายสุทธิรวมของ ไดโด กรุ๊ป โฮลดิ้ง (DyDo Group Holdings)

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีจำหน่ายอยู่ใน 12 ประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป รวมถึงตุรกี ซึ่งการเติบโตในทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายธุรกิจของแบรนด์ ไปสู่ระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง