นโยบายการคลัง "พระเอก" ปี 2568
ต้องยอมรับว่าในปี 2568 นโยบายภาครัฐหลายอย่างที่กำลังเดินหน้าอยู่ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถือว่าใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งดูจะสวนนทางกับการที่กระทรวงการคลังอยากลดการขาดดุล แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันที่จะใช้นโยบายการคลังเป็น "พระเอก" โดยมี "นโยบายการเงิน" ช่วยสนับสนุน
สำหรับในปี 2568 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยคาดว่า จะมีแรงสนับสนุนผ่านนโยบายที่ได้ดำเนินการไปในปีที่ผ่านมา ที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม หลายโครงการในปีนี้
เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกโอนเงิน ระยะที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ที่กำลังเริ่มดำเนินการ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ
มาตรการอีซี่ อีรี-ซีท ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือผู้ประกอบการทั่วไปเฉพาะค่าซื้อหนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อกระตุ้นให้คนที่มีเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่ายในช่วงต้นปี เป็นต้น
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ล้วนมีผลต่อภาระงบประมาณแน่นอน และอาจทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้นเพื่อควบคุมเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการเงินตามที่กระทรวงการคลัง เสนอกรอบเงินเฟ้อ ปี 2568 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1-3 โดยค่ากลางควรอยู่ที่ร้อยละ 2 และให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำงานเรื่องนี้คู่กัน
สอดคล้องกับความคิดเห็นนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่เข้ามาดูเรื่องเศรษฐกิจ และหากอยู่ในภาวะเงินฝืด ก็จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องมือทางการคลัง
ส่วนมาตรการทางการเงินต้องเข้าไปดูเรื่องอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องช่วยกัน
ขณะที่เรื่องค่าเงินบาท มองว่า อัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ในเรทที่แข่งขันได้ ไม่ผันผวนจนเกินไป โดยต้องดูค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งไทย รักษาค่าเงินบาทให้สามารถเกาะกลุ่มให้ได้
ขณะที่การผันผวนของค่าเงินนั้น เป็นหน้าที่ของธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซงดูแล เพื่อให้กระทบต่อกลุ่มผู้ส่งออก
ส่วนเรื่องของการรักษาวินัยการคลังนั้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ครม. ได้มีมติเห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572)
เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ
รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระยะปาน
โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลัง ที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง เพื่อลดระดับการขาดดุลให้กลับสู่ระดับปกติ (Fiscal Consolidation) โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้หลักการสำคัญที่จะต้องดำเนินการ คือ
1.เพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้ดีขึ้น
2.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
และ 3.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในแผนการคลังระยะปานกลางของไทยนั้น ยังเป็นแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยรัฐบาลพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลง และควบคุมให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับร้อยละ 70
ที่เป็นเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ โดยในช่วงปลายแผนงบประมาณในปี 2571 หนี้สาธารณะของไทยจะแตะระดับร้อยละ 69.3 จากเพดานที่กำหนดไว้ร้อยละ 70 โดยมีรายละเอียดของกรอบงบประมาณระยะปานกลางของประเทศ ดังนี้
ปี 2569 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3 ล้าน 7 แสน 8 หมื่นล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 4.3 ของจีดีพี ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 67.3
ปี 2570 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3 ล้าน 8 แสน 6 หมื่นล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 760,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 3.6 ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 68.5
ปี 2571 กรอบงบประมาณรายจ่าย 3 ล้าน 9 แสน 7 หมื่นล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 720,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 3.3 ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 69.2
ปี 2572 กรอบงบประมาณรายจ่าย 4 ล้าน 9 หมื่นล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 3.1 ของจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 69.3
สำหรับเป้าหมายในระยะยาว รัฐบาลควรมุ่งสู่การดำเนินนโยบายการคลังอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้การคลังของประเทศเข้าสู่จุดดุลภาพ
รวมถึงสร้างความคล่องตัวในการรองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมด้วย
ดังนั้น การเดินหน้าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มองว่าการทำงานจะต้องสอดประสานกัน ทั้งนโยบายการคลัง และการเงิน
รวมทั้งการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังด้วย ผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล ที่ออกมาดูแลผู้ประกอบการรายย่อย และลดภาระประชาชน เช่น มาตรการพักหนี้ เงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดจะเดินหน้าในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ร้อยละ 70 เพื่อพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ข่าวแนะนำ
-
นโยบายการคลัง "พระเอก" ปี 2568
- 09:50 น.