ตลาดรถไทยทรุดยาว ปีนี้ยอดขายเหลือ 5 แสนคัน
ตลาดรถยนต์ในไทย เคยคาดหวังจะได้เห็นยอดขาย 1 ล้านคัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดขายกลับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องพอสมควร พาไปดูว่าผลกระทบหนักหนาสาหัสแค่ไหน
เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย “รายงานสถิติการขายรถยนต์ในภาพรวมทั้งตลาดช่วง 11 เดือนปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่า มียอดขาย 518,659 คัน ลดลงร้อยละ 26.7 แบ่งเป็น รถยนต์นั่งขายได้ 203,421 คัน ลดลงร้อยละ 23.6 , รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขายได้ 315,238 คัน ลดลงร้อยละ 28.5”
ถ้าไปดู 3 อันดับยี่ห้อรถยนต์ที่มียอดขายสุงสุดได้แก่
โตโยต้า ขายได้ 199,487 คัน ลดลง ร้อยละ 17.5 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38.5
อีซูซุ ขายได้ 77,429 คัน ลดลงร้อยละ 45 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ14.9
ฮอนด้าขายได้ 67,322 คัน ลดลงร้อยละ 20 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13
ถ้าดูเฉพาะแค่เดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่ามียอดขายรวม 42,309 คัน ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงทุกประเภท เช่น รถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 27 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ลดลงร้อยละ 34 และรถกระบะขนาด 1 ตัน ลดลง ร้อยละ 35
ศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดรถยนต์เดือนธันวาคม ฟื้นตัวเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลจากยอดจองรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 41 "Thailand International Motor Expo 2024" โดยในงานดังกล่าวแต่ละค่ายรถเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และอัดแคมเปญกระตุ้นตลาดช่วงสุดท้ายปลายปีกันอย่างจัดเต็ม ทำให้มียอดจองถึง 54,513 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.38 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตรงนี้น่าจะมีส่วนช่วยในการผลักดันตลาดรถยนต์เดือนธันวาคมดีขึ้น
ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการประเมินตลาดรถยนต์ในไทย พบว่า ตลาดรถในประเทศทรุดตัวต่อเนื่องถึง 3 ปี
เมื่อปี 2565 ยอดขายในไทยอยู่ที่ 849,000 คัน ยังสามารถเติบโตร้อยละ 12 โดยในปีนั้นมีความหวังจากผู้ผลิตหลายค่ายว่า อาจได้เห็นยอดขายรถยนต์ทะลุ 1 ล้านคันในอีกกี่ปีข้างหน้า
แต่หลังจากนั้น ตัวเลขยอดขายรถยนต์ลดต่ำลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 อยู่ที่ 775,000 คัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.5
ในปี 2567 ที่ผ่านมา คาดว่ายอดขายคาดว่าจะอยู่ที่ 560,000 คัน หรือลดลงร้อยละ 28 โดยคงต้องติดตามยอดขายอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมที่จะมีการประกาศออกมาในเดือนมกราคานี้
ส่วนในปีนี้ (2568) คาดว่ายอดขายยังปรับลดลง ร้อยละ 5.4 เหลือเพียง 530,000 คัน
ถ้าไปดูตลาดรถยนต์แยกเป็นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์คาดเป็นกลุ่มที่มียอดขายลดลงมากสุด โดยในปีนี้ อาจหดตัวร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึงร้อยละ38.4 โดยเป็นการลดลงของยอดขายรถกระบะหรือปิกอัพ ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 85 ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากผู้ซื้อรถกระบะเป็นกลุ่มที่มีรายรับไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อการขออนุมัติสินเชื่อค่อนข้างมาก
กลุ่มรถยนต์นั่งหดตัว ร้อยละ4.4 ในปี 2568 สาเหตุมาจากยอดขายรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาป ( ICE) ที่คาดว่าจะปรับลดลงค่อนข้างมาก แม้จะมียอดขายของกลุ่มรถยนต์นั่งที่ใช้ไฟฟ้าหรือ xEV ที่ขยายตัวมาช่วยพยุง จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์นั่ง xEV ขยับขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 73 ของยอดขายรวมก็ตาม โดยรถยนต์นั่งกลุ่ม xEV ที่ขยายตัวสูงสุด คือ รถยนต์นั่งในกลุ่มไฮบริด หรือ HEV ตามด้วยรถยนต์นั่ง PHEV ส่วนรถยนต์กลุ่มแบตเตอรี่ไฟฟ้า(BEV) แม้จะเติบโตเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่าที่ ร้อยละ 2.9 เนื่องจากแม้การแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก และยังมีประเด็นกังวลด้านการใช้งาน ราคาขายต่อมือสอง และสถานีชาร์จไฟฟ้า
หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง BEV ที่เป็นรถหรู พบมีโอกาสที่จะเติบโตร้อยละ 3.8 ในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าตลาดรถยนต์นั่ง BEV โดยรวม ตรงนี้เกิดจากจากการแข่งขันราคาที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับผู้ซื้อเป็นกลุ่มรายได้มั่นคง จึงไม่ถูกกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเหมือนกับ BEV ราคาถูก
การที่ยอดขายรถยนต์ในไทยทรุดลงเกือบทุกกลุ่ม ย่อมสร้างผลกระทบต่อธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรือ ดีลเลอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวงโซ่อุปทานฝั่งการขายและบริการของอุตสาหกรรมรถยนต์
ดีเลอร์มีรายได้ 2 ทาง คือการจำหน่ายรถยนต์และการให้บริการซ่อมบำรุง
ปัจจุบันการแข่งขันของดีลเลอร์สูงขึ้นมาก หลังหลายค่ายรถยนต์ใหม่จากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการเปลี่ยนเทคโนโลยีพลังงานรถยนต์จากรถยนต์สันดาปภายในใช้น้ำมันล้วน (ICE) สู่รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) ทำให้ดีเลอร์ในไทยก่อนหน้านี้เน้นขายรถที่ใช้น้ำมันได้รับผลกระทบค่อยข้างมาก
ถ้าไปดูในช่วงปี 2567 ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ในไทยต้องเผชิญความยากลำบากตั้งแต่ต้นปี จากปัญหายอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่หดตัวสูงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นมากด้านราคา นำมาสู่ผลกระทบต่อทั้งรายได้จากการขายรถยนต์ของดีลเลอร์ที่ลดลง และกระทต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังดีลเลอร์ต้องแบกสต๊อกรถยนต์ที่ยังขายไม่ได้และต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้
จนสุดท้ายกลุ่มธุรกิจดีลเลอร์ที่มีสายป่านการเงินไม่มากพอต้องปิดกิจการไป โดยคาดว่าจำนวนดีลเลอร์รถยนต์ในปี 2567 จะลดลงประมาณร้อยละ 1.4
ส่วนในในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะยังไม่คลี่คลาย เนื่องด้วยการดำเนินธุรกิจรถยนต์มีโจทย์ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดการ ส่งผลให้ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ยังต้องเร่งปรับตัวต่อในหลายรูปแบบเพื่อหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ เช่น หารายได้เพิ่มจากการซ่อมบำรุง และการขยายหรือเปลี่ยนไปทำดีลเลอร์ให้ค่ายรถยนต์อื่นที่ยอดขายยังไปได้
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการประเมินรายได้ดีลเลอร์ พบว่าลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 รายได้ของดีลเลอร์ภาพรวมอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท(หนึ่งล้านห้าแสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5
ส่วนในปี 2567 ที่ผ่านมา รายได้เหลือเพียง 1 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.4
ส่วนใน 2568 คาดว่ารายได้ของดีลเลอร์จะลดลงเหลือเพียง 960,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.9”
รายได้ของดีลเลอร์ที่ลดลงมีปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน คือ
1.การหดตัวของรายได้จากการขายร้อยละ 5.4 หลังยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคาดการณ์ว่าจะหดตัวต่อเนื่องอีกปี
2. การหดตัวของรายได้จากการซ่อมบำรุงที่ร้อยละ 1.2 ตามจำนวนรถที่เข้าใช้บริการที่ลดลง
ผลกระทบของยอดขายต่อรายได้แต่ละดีลเลอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งทิศทางความนิยมต่อรถยนต์ในอนาคต โดยอาจมาจากแผนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่รวมถึงโปรโมชั่น ทำเลที่ตั้ง และสายป่านทางการเงินของธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อการรับมือในระดับที่ต่างกัน ตั้งแต่การหาช่องทางปรับเพิ่มรายได้จากการซ่อมบำรุง ไปสู่การย้ายไปทำตลาดให้ค่ายรถยนต์อื่น หรือในกรณีเลวร้าย คือ การออกจากธุรกิจ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการปรับตัวต่างๆเหล่านี้มาบ้างแล้ว และคาดว่าน่าจะมีให้เห็นต่อในปี 2568
แม้การหาทางเพิ่มรายได้จากการซ่อมบำรุงเพื่อชดเชยกับการเสียรายได้จากการขายจะเป็นแนวทางแรกที่ดีลเลอร์เร่งปรับตัวไปดำเนินการ แต่ก็คาดว่าผลที่ได้อาจไม่มากอย่างที่หวัง โดยคาดว่าในปี 2568 นี้ปริมาณรถยนต์ที่อายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของดีลเลอร์อาจหดตัวร้อยละ 4.2 เหลือ 8.89 ล้านคัน(แปดล้านแปดแสนเก้าหมื่นคัน) เพราะช่วงหลังมานี้ ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญกับหลายเหตุการณ์ที่กระทบกับยอดขายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ผลจากการเร่งซื้อล่วงหน้าของรถยนต์คันแรก ปัญหาโควิดกระทบกำลังซื้อ และล่าสุดปัญหาหนี้เสียสูง ทำให้แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้ปริมาณรถยนต์อายุไม่เกิน 10 ปี สะสมบนนถนนอยู่ลดต่ำลง
ถ้าไปดูอนาคตข้างหน้า ดีลเลอร์รถยนต์ไทยยังมีความเสี่ยงของธุรกิจต้องรับมือ คือ
-การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานทางเลือกกลุ่ม xEV ซึ่งจะกระทบกับยอดขายรถยนต์ ICE โดยตรง ทำให้ค่ายรถที่เน้นขายรถยนต์ ICE เป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งที่จะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเร็วกว่า อาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งจะตรงข้ามกับกลุ่มที่เน้นขายรถยนต์ xEV
- การแข่งขันที่สูงขึ้นจากค่ายรถใหม่ที่ลงทุนในประเทศกับรถยนต์นำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่มีข้อตกลงการค้าหรือ FTA ทำให้มีโอกาสเกิดการแข่งขันด้านราคาและโปรโมชั่นต่างๆ รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ดีลเลอร์อาจเผชิญกับปัญหากำไรจากการขายลดลง โดยเฉพาะในกลุ่ม Market Share ต่ำ ที่แข่งขันได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น
ทางด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีการประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2568 ในทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบาง ส่งผลให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากนั้นจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 5.5 แสนคันใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินไว้ และคาดว่าจะยังไม่สามารถกลับสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลายเรื่อง ทั้งกรณีที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น และ การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป
ถ้าไปดูแนวโน้มการฟื้นตัวรถยนต์เป็นรายประเภทในช่วงปีนี้ (2568) พบว่า
-รถยนต์เชิงพาณิชย์ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหาล้นตลาด(Overcapacity) ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง โดยในระยะปานกลางจำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งแม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
-รถจักรยานยนต์ มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ในระยะปานกลางจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่เปราะบาง ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ภาคเกษตรผันผวน รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศออกมาแม้จะเกิดขึ้นบางจังหวัด แต่มีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น สำหรับการส่งออกรถจักรยานยนต์ในปี 2568 คาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ เพราะอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และจีน
-รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ขายดีเพราะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด โดยตลาดรถไฮบริดนับเป็นแรงส่งสำคัญเพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง (ราคา 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท) รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 10 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ
ข่าวแนะนำ