TNN คนไทยช็อปปิงน้อยลงฉุดค้าปลีกโตต่ำรอบ 3 ปี

TNN

เศรษฐกิจ

คนไทยช็อปปิงน้อยลงฉุดค้าปลีกโตต่ำรอบ 3 ปี

ค้าปลีกถือเป็นหนึ่งธุรกิจมีมูลค่าสูง ในช่วงที่ผ่านมาค้าปลีกของไทยยังพอขยายตัวได้บ้าง แต่ในปีนี้อาจเห็นการเติบโตลดลง สิ่งสำคัญคือกำลังซื้อของประชาชนที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก ทำให้รัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้น ซึ่งมีหลายโครงการกำลังอยู่หว่างดำเนินการ

ในช่วงต้นปีนี้ มีโครงการรัฐ 2 โครงการที่กำลังดำเนินการเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนให้เพิ่มขึ้น

1.โครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟสที่ 2 คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้ประมาณ 32,000 ล้านบาท น่าจะกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ให้คึกคักมากขึ้น  โดยโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับเงินคือกลุ่มคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอพทางรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการนี้ประมาณ 3.2 ล้านคน มีกำหนดแจกเงินก่อนวันที่ 29 ม.ค.2568 

ส่วนโครงการเงินดิจิทัล สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป 14 ล้านคน ทางจุลพันพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังยืนยันว่า จะดำเนินการภายในเดือน เม.ย. -มิ.ย.2568 โดยการแจกเงินดิจทัลสำหรับประชาชนทั่วไป จะไม่ให้เป็นเงินสดเหมือน 2 เฟสที่ผ่านมา แต่จะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล โดยขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันรองรับ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.2568 ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวจะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย 

 2.อีกโครงการที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย คือ โครงการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้เสียภาษี 4 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท โดยผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย มีกำหนดเริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. – 28 ก.พ.2568 รวม 45 วัน โดยโครงการนี้กระทรวงการคลังได้เพิ่มเงื่อนไขในการใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

-ค่าใช้จ่ายสินค้าทั่วไปและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ทัวร์ เช่ารถ โรงแรม และร้านอาหาร กำหนดวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท

-ค่าใช้จ่ายร้านวิสาหกิจชุมชน SME และร้านค้า OTOP ลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ 20,000 - 50,000 บาท

คาดว่าโครงการนี้จะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการและเข้าระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยรัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ทั้ง 2 โครงการรัฐที่ออกมา น่าจะมีส่วนช่วยธุรกิจค้าปลีกของไทยปีนี้ให้สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการประเมินธุรกิจค้าปลีกว่าในปี 2568 จะมีมูลค่า 4.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3  ซึ่ง

ขยายตัวต่ำกว่าในช่วง 3 ปี  (2564-2566) ที่มีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปี

แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหนุนให้ยอดขายค้าปลีกขยายตัว แต่ในปีนี้ ยังขยายตัวต่ำกว่าอดีต เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องค่าครองชีพสูง และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าปี 2568 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินให้ผู้สูงอายุ (เฟส 2) และผ่าน Digital wallet (เฟส 3) มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt และมาตรการคุณสู้เราช่วย รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหนุนยอดขายของธุรกิจค้าปลีกให้ยังคงขยายตัว แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงและยังต่ำกว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

ถ้าไปดูในรายละเอียดของการเติบโตพบว่า ยอดขายของค้าปลีกสมัยใหม่  หรือว่า Modern trade น่าจะโตสูงกว่าภาพรวมของตลาด โดยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ4.8 แต่การเติบโตดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้ตลาดในภาพรวมโตสูงเมื่อเทียบกับอดีต แต่เป็นการดึงแชร์มาจากผู้เล่นอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกดั้งเดิม  หรือ Traditional trade สะท้อนจากส่วนแบ่งตลาดของค้าปลีก Modern trade คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 ในปี 2568 จาก 5 ปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 40

ถ้าไปดูยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมมาจากการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นส่วนใหญ่ 

การบริโภคของคนไทย มีสัดส่วนร้อยละ 82 ของยอดขายของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด คาดว่าในปีนี้คนไทยยังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูง กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด  มีการวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการซื้อสินค้า/ใช้บริการลง เช่น ลดทานข้าวนอกบ้าน/ ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 

ส่วนการบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 18 ของยอดขายของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ยังคงเพิ่มขึ้นแต่เป็นทิศทางที่ชะลอลงตามการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2568 อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังเปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารที่เป็น Street food มากขึ้น หรือซื้อของฝากน้อยลง ดังนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะที่สัดส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 25 ของยอดขายค้าปลีก

ถ้าไปดูการเติบโตของสินค้ารายกลุ่มพบว่า กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัวคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 79 ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมด ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของตลาด สะท้อนได้จาก ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปี 2567 กว่า ร้อยละ 42 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2566 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 40

ขณะที่ อีกร้อยละ 21 ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย น่าจะยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังโตต่ำกว่าภาพรวมของตลาดในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า) เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง/ซ่อมแซมบ้าน ตรงนี้น่าจะเกิดจาก ผู้บริโภคน่าจะยังมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหรือซื้อเท่าที่จำเป็น เช่น ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม/ตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น 

 

เมื่อตลาดยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงในปี 2568 ใน 2 เรื่องหลักคือ

1.ในเรื่องการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตจีนเข้ามาทำตลาดโดยตรงผ่านทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรวมถึงผู้ผลิตสินค้าไทยแข่งขันลำบากขึ้น สะท้อนจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน 4.3 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 41 ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้อาจเห็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนมากขึ้น

2.ส่วนต้นทุนธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งแม้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีการจ้างงานกว่า 3 ล้านคน และคนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ตือได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน มีราว 1.1 ล้านคน หรือ ร้อยละ35 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ก็น่าจะทำให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5.6 แต่การปรับขึ้นค่าจ้างอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าปลีกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุน 

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง