หมดยุคเก็งกำไร! นาฬิกาหรูมือสอง "Rolex" - "Patek Philippe" ราคาร่วง l การตลาดเงินล้าน
ตลาดนาฬิกาหรูมือสอง ปี 2023-2024 เป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง สะท้อนได้ว่า อาจหมดยุคของการเก็งกำไร และตลาดกำลังเปลี่ยนผ่านกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ดัชนีราคานาฬิกาหรู ใน วอตช์ชาร์ตส์ (WatchCharts) ปี 2024 ดัชนีปรับตัวลดลงไปร้อยละ 5.8 และจากการสำรวจครั้งล่าสุด ดัชนีราคา ย้อนหลัง 1 ปี ลดลงไปร้อยละ 5.6 ยกตัวอย่างแบรนด์หลัก ๆ เช่น
Rolex หากดูย้อนหลัง 1 ปี ลดลงไป ร้อยละ 5 แต่เมื่อดูย้อนหลัง 2 ปี ลดลงไปถึงร้อยละ 11.8
Patek Philippe ย้อนหลัง 1 ปี ลดลง ร้อยละ 5.6 ส่วนย้อนหลัง 2 ปี ลดลงไปร้อยละ 20.7
Audemars Piguet ย้อนหลัง 1 ปีลดลงร้อยละ 7.1 และย้อนหลัง 2 ปี ลดลงร้อยละ 22.3
Omega 1 ปี ลดลงร้อยละ 3.5 และ 2 ปี ลดลงไปร้อยละ 5.2
และ TAG Heuer ย้อนหลัง 1 ปี ลดลงไปร้อยละ 5.8 ส่วน 2 ปี ลดลงไปร้อยละ 7.4
ขณะที่ ฟอร์บส์ รายงานว่า ปี 2024 ราคานาฬิกาหรูในตลาดรอง(ตลาดมือสอง) ยังคงลดลงต่อเนื่อง เช่น รุ่นที่โด่งดังอย่าง Daytona ของ Rolex และ Nautilus ของ Patek Philippe ราคาลดลงไปมากถึงร้อยละ 30 และ ร้อยละ 40 ตามลำดับ จากราคาสูงสุดเมื่อปี 2022 และดัชนีตลาดโดยรวมก็ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่า ความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรลดลง
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีสำหรับนักสะสม ที่ให้ความสำคัญกับงานฝีมือ ประวัติศาสตร์ และการออกแบบ เพราะเมื่อนักเก็งกำไรออกจากตลาดไปแล้ว จะทำให้กลุ่มผู้นิยมนาฬิกาหรูทั้งของเก่าและของใหม่ จะสามารถซื้อนาฬิกาจากแบรนด์ยอดนิยมได้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
อีกสัญญาณบวกสำหรับอุตสาหกรรม ก็คือ ปีที่ผ่านมา บริษัทจัดการประมูลต่าง ๆ สามารถทำผลงานได้ดีเกินคาดจากนาฬิกากลุ่มหายากและมีประวัติความเป็นมา เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การประมูลนาฬิกาหายาก ซึ่งจัดโดย Christie ในเจนีวา เปิดประมูล Breguet No. 3218 ปี 1935 และขายได้ในราคา 1 ล้าน 9 แสน 2 หมื่น ฟรังก์สวิส ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินก่อนการขาย 100,000 ฟรังก์สวิส
และเมื่อเดือนธันวาคม ที่นิวยอร์ค Sotheby's ประมูลขาย Heuer Monaco ของ Steve McQueen และขายไปได้ในราคา 1 ล้าน 4 แสน ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าราคาประเมินก่อนการขาย 500,000 ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และ Patek Philippe Grandmaster Chime ของ Sylvester Stallone ก็ประสบความสำเร็จในการจัดประมูลของ ซัทเทบีส์ ในเดือนมิถุนายน ด้วยมูลค่า 5 ล้าน 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการสร้างสถิติราคาสำหรับนาฬิกาสมัยใหม่อีกด้วย
ซึ่งความสำเร็จในการจัดประมูลดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการนาฬิกาที่มีความโดดเด่น และมีประวัติที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการผลิตจำนวนจำกัด
ความแตกต่างระหว่างราคาในตลาดรองที่ลดลง และการประมูลที่กำลังเฟื่องฟู ยังตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดนาฬิกาหรู ที่นักเก็งกำไรในช่วงโควิดระบาด กำลังออกไปจากตลาด ทำให้เกิดช่องทางกับผู้ที่ชื่นชอบ และกลุ่มนักสะสมที่สามารถเข้าถึงนาฬิการุ่นที่โดดเด่นได้มากขึ้น เมื่อราคากลับเข้าสู่ระดับปกติ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น นักสะสมเริ่มหันเหจากนาฬิการุ่นใหม่ที่มีการผลิตจำนวนมาก ไปสู่นาฬิกาวินเทจที่มีความสำคัญด้านประวัติความเป็นมากันมากขึ้น เช่น Omega's Speedmaster Professional Moonwatch และ Submariner ในยุคแรก ๆ ของ Rolex ที่ยังมีความต้องการอยู่มาก
พอล อัลติเยริ (Paul Altieri) ผู้ก่อตั้งและ ซีอีโอ ของ Bob's Watches ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหรูมือสองทางออนไลน์ เล่าว่า เขาเองเห็นความต้องการ Rolex รุ่นต่าง ๆ จากช่วงทศวรรษที่ 1980 เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 20 ในปี 2024 ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะรุ่น Oyster Perpetual และ GMT-Master และยังสังเกตเห็นด้วยว่า ความต้องการนาฬิกาหน้าปัดสีเขียว ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 บ่งชี้ได้ว่านาฬิกาที่หายากกำลังเป็นที่ต้องการสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฟอร์บส์ รายงานด้วยว่า แบรนด์นาฬิกาหรูกำลังปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น ตลาดส่งออกที่ลดลง มีปัจจัยหลักมาจากการลดลงในตลาดจีน แต่ก็ยังมีหลายคนที่มองว่าตลาดกำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติ และมีพัฒนาการไปในเชิงบวก เช่น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า แบรนด์ต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องมากขึ้น โดยหันมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างภาพลักษณ์อย่างระมัดระวัง ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการผลิตแบบเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงในกลุ่มนักสะสมที่มองหาความพิเศษเฉพาะตัว เป็นต้น
ข่าวแนะนำ