TNN EEC พัฒนา'ท่าเรือจุกเสม็ด'ดึงเอกชนร่วมทุน

TNN

เศรษฐกิจ

EEC พัฒนา'ท่าเรือจุกเสม็ด'ดึงเอกชนร่วมทุน

"อีอีซี" เปิดแผนพัฒนา "ท่าเรือจุกเสม็ด"ดึงเอกชนร่วมทุน ผุดท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal)ขนาด 4,000-5,000 คน ปั้น Home Port ดึงสายเรือใช้เป็นต้นทางปลายทางแวะรับส่งเสบียงสร้างงาน-อุตฯต่อเนื่องตั้งงบ 40 ล้านบาท

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้อีอีซีมีแผนในการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยได้เตรียมตั้งงบปี 2569 วงเงินประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดสำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ในรูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน (PPP EEC Track)


โดยได้มีการหารือกับ ทางกองทัพเรือ เบื้องต้นแล้ว เพื่อขอใช้พื้นที่ทำ โครงการฯ ซึ่งกองทัพเรือสามารถบริหารจัดการพื้นที่ และไม่กระทบกับการใช้งานในปัจจุบัน โดยอีอีซีจะประมูลคัดเลือกหา ผู้ร่วมลงทุนในการปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความ เหมาะสม โดยอยู่ห่างจากสนามบิน อู่ตะเภา ประมาณ 7 กม.เท่านั้น มีถนนขนาด 2 ช่องจราจรเข้าออกสะดวก และสามารถขยายได้ รวมถึงจัดระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อจากท่าเรือจุกเสม็ดเพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองการบิน รวมไปถึงในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง สะดวกและใช้เวลาเดินทางไม่นาน


ทั้งนี้  อีอีซี มีแนวคิดจะพัฒนาให้ท่าเรือจุกเสม็ดเป็นท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ รองรับเรือบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 4,000-6,000 คน โดยจะออกแบบให้สามารถจอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ เพื่อเป็นทางเลือกให้สายเรือกำหนดเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว ลักษณะเป็น Home Port ที่เป็นทั้งต้นทางปลายทาง ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจ และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ หากประเมินจากหลักการให้บริการ เรือบรรทุก ผู้โดยสาร 4,000 คน จะต้องมีพนักงานและผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องประมาณ 1,000 คน ทั้งบริการด้านอาหาร การจัดการที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวก เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มแน่นอน


ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาท่าเรือสำราญควรเป็นผู้ประกอบการสายเรือ หรือประกอบธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยว หรือมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะสามารถหาลูกค้า ทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การลงทุนโครงการนี้จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากปัจจุบันท่าเทียบเรือจุกเสม็ด มีความพร้อมค่อนข้างมาก ทั้งพื้นที่หน้าท่า และความลึกร่องน้ำประมาณ 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ 


ดังนั้นเอกชนที่เข้ามาจะลงทุนในส่วนของการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร ทางเดินลงเรือ หรือสะพานเทียบเรือ และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่จะมากับเรือ และผู้คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการให้บริการ


อย่างไรก็ตาม อีอีซี วางเป้าหมาย แผนงานจะจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและดำเนินการคัดเลือกเอกชน เพื่อพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้พร้อมกับสนามบินอู่ตะเภา เพราะโครงการนี้ จะเป็นส่วนที่จะช่วยสร้างดีมานด์ เชื่อมสู่สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินได้อีกทาง.


ที่มา TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง