TNN ส่งออกทูน่าสดใส ฟื้นกลับไปสูงกว่าช่วงโควิด

TNN

เศรษฐกิจ

ส่งออกทูน่าสดใส ฟื้นกลับไปสูงกว่าช่วงโควิด

ส่งออกทูน่าสดใส ฟื้นกลับไปสูงกว่าช่วงโควิด

SCB EIC คาดส่งออกทูน่ากระป๋องปีนี้ฟื้นกับไปอยู่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด และปี 2568 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.2

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ หรือ SCB EIC  เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2567 ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมการบริโภคในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น


ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ ที่เพิ่มขึ้นมากจากผลพวงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น  ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและทำให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีผลให้ฝูงปลาทูน่าย้ายถิ่นฐาน หนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรเยอะมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น


สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าในปี 2568  คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 เทียบระยะเดียวกันปีก่อน (YOY) สอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ 


นอกจากนี้ การส่งออกที่ดีขึ้นยังเป็นผลจากการเติบโตของความต้องการบริโภคอาหารฮาลาล สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย


 ในระยะข้างหน้า ความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือ คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด 


รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับมาตรการกำกับดูแลการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) พร้อม ๆ ไปกับการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์เรื่องอาหารปลอดภัย และ Healthier choice เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง