ธปท.จับตาว่างงานเพิ่ม-ศก.เดือนพ.ย.ชะลอ
ธปท. เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย. 67 ชะลอลง จับคนว่างงานเพิ่ม
ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 ชะลอลง พร้อมจับตาตลาดแรงงาน หลังยอดผู้ประกันตนขอใช้สิทธิว่างงานเพิ่ม ขณะที่คลังมองสวนเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนโตดี อานิสงค์ส่งออก-ท่องเที่ยว-แจกเงินหมื่น
นางปราณี สุทธิศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนพฤศจิกายน 2567 เศรษฐกิจไทยชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากที่เร่งขึ้นจากผลของมาตรการเงินโอนภาครัฐ สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 แต่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรวมในระบบประกันสังคม (ม.38) มียอดสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 224,000 คน จาก 212,000 คนในเดือนตุลาคที่ผ่านมา เนื่องจากคนที่ตกงานอยู่แล้วอาจยังหางานทำไม่ได้ ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่ (Flow) ในเดือนพฤศจิกายน มีจำนวน 50,000 คนลดลงจาก 62,000 คนในเดือนก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มระยะต่อไป ธปท.มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับ แรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
ส่วนมาตรการโอนเงินในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ของรัฐบาลนั้น ธปท.ประเมินว่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายหรือกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจน้อยกว่าระยะแรก เนื่องจากกลุ่มแรกที่ได้รับเงินโอนมีการใช้จ่ายเงินที่มีผลทวีคุณต่อเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) มากที่สุด อย่างไรก็ดีคงต้องติดตามในระยะข้างหน้าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนยังคงชะลอตัว
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของภาคใต้ รวมถึงสถานการณ์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข่าวแนะนำ