TNN เปิด 5 ปัจจัยกดดอกเบี้ยแตะร้อยละ1.50

TNN

เศรษฐกิจ

เปิด 5 ปัจจัยกดดอกเบี้ยแตะร้อยละ1.50

CIMBT เปิด 5 ปัจจัยลบกดดอกเบี้ยไทยปี 2568 แตะร้อยละ 1.50 ทั้งกำลังซื้อครัวเรือนอ่อนแอ - การผลิตซึมยาว - อัตราเงินเฟ้อต่ำ - เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำยาว - เผชิญสงครามค่าเงิน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี  2568 เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกจากระดับร้อยละ 2.25 ในปี 2566 สู่ระดับร้อยละ 1.50 ในปี 2568 ด้วย 5 ปัจจัย ดังนี้


1. กำลังซื้อครัวเรือนระดับล่างอ่อนแอ เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตในรูปแบบที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้มีมากขึ้น มีความเสี่ยงที่คนรายได้น้อย ยังมีปัญหาขาดรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร อีกทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ภาคบริการในต่างจังหวัด ไม่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังยอดขายตกต่ำลากยาวต่อเนื่อง 


2.ภาคการผลิตซึมยาว ดัชนีภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวแรงในปี2567 แม้คาดว่าตลาดรถยนต์น่าจะกลับมาทรงตัวได้ในช่วงกลางปี 2568 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี กำลังซื้อของแรงงานและคนในอุตสาหกรรมนี้ยังอ่อนแอ


3.อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ถึงกรอบล่างนโยบายการเงิน คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะเฉลี่ยที่ระดับร้อยละ 1.0 ซึ่งแตะกรอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 1.0-3.0 แต่หากกำลังซื้ออ่อนแอ จากภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในกลุ่มที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยวแล้ว ราคาสินค้าก็ขึ้นยาก


นอกจากในปี 2568 คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะลดลง แม้จะช่วยทำให้ต้นทุนสินค้าลดลงตามค่าขนส่ง แต่การแข่งขันที่รุนแรง ห่วงว่าราคาสินค้าอาจปรับย่อลงมากจนกระทบผู้ประกอบการ


4.เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลากยาว ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ไม่ถึงร้อยละ 3 ในระยะยาว อาจจำกัดไว้ที่ ร้อยละ 2.50-3.00 ในอีก 5 ปีและอาจปรับลดลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2.50 ในภายหน้า ที่เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้าลงในระยะยาวเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งสังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน ทักษะแรงงานต่ำ 


5.เผชิญสงครามค่าเงิน เพราะเมื่อสหรัฐตั้งกำแพงภาษีจากจีน และประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ จะเผชิญความลำบากในการส่งออกหากต้องการส่งออกมากขึ้นก็ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา คือ ขายของให้ถูกลง ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนีไม่พ้นหามาตรการปล่อยให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ และคู่แข่ง 


ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินสามารถสนับสนุนให้ค่าเงินอ่อนค่า ได้ด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อลดความน่าสนใจของสกุลเงินตัวเอง สนับสนุนให้เกิดเงินไหลออก แต่ต้องระวัง ทรัมป์ อาจเพ่งเล็งประเทศเหล่านี้ว่าบิดเบือนค่าเงิน


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง