TNN พันธมิตรชาติใด เสี่ยงสูง “ทรัมป์ 2.0”

TNN

เศรษฐกิจ

พันธมิตรชาติใด เสี่ยงสูง “ทรัมป์ 2.0”

เจาะลึกรายงาน ITIF เปิดชื่อประเทศพันธมิตรที่มีความเสี่ยงสูงจะเผชิญมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ ยุค “ทรัมป์ 2.0” มีไทยรวมอยู่ด้วยในอันดับต้น ๆ จากทั้งหมด 39 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่รายงานอีกชิ้นตั้งข้อสังเกตถึงบางประเทศที่อาจได้ส้มหล่นจากแนวรบทางการค้ารอบใหม่

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology & Innovation Foundation-ITIF)ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานดัชนีความเสี่ยงจาก “ทรัมป์” (Trump Risk Index) ที่จัดอันดับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ 39 แห่งตามความเสี่ยงที่อาจเผชิญผลกระทบจากมาตรการภาษีภายใต้ยุค “ทรัมป์ 2.0” โดยใช้เกณฑ์ชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1.รายจ่ายด้านการป้องกันประเทศ2.ดุลการค้า3.มาตรการต่อต้านนโยบายการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และ 4.ความเต็มใจที่จะต่อต้านการขยายบทบาทด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน


ผลการศึกษา พบว่า 5 อันดับแรกประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในดัชนีITIFได้แก่ เม็กซิโก คะแนน -4.12 // ตามด้วยไทยคะแนน -3.98 // สโลวีเนีย คะแนน -2.48 // ออสเตรีย คะแนน-2.42 // แคนาดา คะแนน -1.98 ซึ่งคะแนนติดลบมากหมายถึงมีความเสี่ยงสูง // ส่วนประเทศพันธมิตรที่มีความเสี่ยงในอันดับ 6-10 ได้แก่ นิวซีแลนด์ คะแนน -1.92 // ฮังการี คะแนน -1.78 // ตุรกี คะแนน -1.58 // สโลวาเกีย คะแนน -1.57 // ลักเซมเบิร์ก คะแนน -1.53 


ในทางกลับกัน ประเทศที่อยู่ในโซนปลอดภัยมากที่สุด 5 อันดับ คือ ลิทัวเนีย คะแนน 4.22 // เอสโตเนีย คะแนน 3.60 // โปแลนด์ คะแนน 3.56 // ลัตเวีย คะแนน 2.88 เท่ากับออสเตรเลีย //สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงต่ำอื่นๆ อีก 5 อันดับ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ คะแนน 2.09 //สาธารณรัฐเช็กคะแนน 1.65 // เดนมาร์ก คะแนน 1.42 // ไต้หวัน คะแนน 1.33 // และกรีซคะแนน 1.22


เมื่อเทียบคะแนนโดยรวม ประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงทั้ง 5 อันดับแรก มีรายจ่ายในการป้องกันประเทศเมื่อเทียบกับ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนอกจากนี้ ทั้งหมดยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเม็กซิโกและไทยเกินดุลการค้ามากสุด ขณะเดียวกัน รายงานคาดว่ารัฐบาลทรัมป์น่าจะมองประเทศพันธมิตรกลุ่มนี้ไม่เข้มงวดต่อจีน และไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่เพื่อต่อต้านบทบาทของจีนที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการทหาร นโยบายต่างประเทศ อำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน


สำหรับประเทศกลุ่มโซนปลอดภัย 5 อันดับแรก มีค่าใช้จ่ายด้านการทหารสูงกว่าค่าเฉลี่ย ยกเว้นออสเตรเลียที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ขณะที่ทั้งหมดขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯรวมทั้งมีความพยายามตอบโต้การเพิ่มบทบาทของจีน และแทบทั้งหมด ยกเว้นโปแลนด์ได้คะแนนที่ดีในแง่มาตรการต่อต้านการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ


ITIF ระบุในรายงานล่าสุดว่า นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงของชาติ ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงการค้าที่เอื้ออำนวยต่อประเทศต่างๆ ที่ต้องการเป็นพันธมิตร ลดภาษีนำเข้าสินค้า รวมถึงให้ความช่วยเหลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศต่าง ๆ และสนับสนุนให้บริษัทอเมริกันเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้นนับเป็นการต่อสู้ด้านภูมิรัฐศาสตร์เพื่อควบคุมภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตและถึงแม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงใช้แนวทางนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศ


หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุค “บิล คลินตัน” เริ่มส่งสัญญาณถึงแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะยกระดับเรื่องเศรษฐกิจให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงของชาติ แต่เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะเฟื่องฟูประมาณครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 ทำให้ความกังวลเหล่านี้ถูกละเลยไป จากนั้นสหรัฐฯ ก็เผชิญกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายน ปี 2544 หรือ 9/11 จึงทำให้ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงของชาติกลับมาเป็นหัวข้อสำคัญอีกครั้ง


กระทั่งในยุคของ “ทรัมป์” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ระหว่างปี 2560-2564 ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนดังกล่าว และประกาศนโยบาย“อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่แนวทางใหม่ นั่นคือการยุติข้อตกลงการค้าฝ่ายเดียว รวมถึงเลิกทำหน้าที่เป็นตำรวจโลกสำหรับประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช้เงินตัวเองเพื่อปกป้องประเทศ และไม่เพิกเฉยต่อการที่ประเทศพันธมิตรตอบโต้เศรษฐกิจและบริษัทอเมริกันนอกจากนี้ “ทรัมป์” กำลังจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัย 2ในวันที่ 20 มกราคม ปี 2568 แต่ที่แตกต่างออกไป คือ พรรครีพับลิกันของเขาครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้ “ทรัมป์” สามารถใช้อำนาจบริหารได้อย่างเต็มที่มากกว่าตอนนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การผลักดันนโยบายบางเรื่องทำได้ยาก


รายงาน ITIFระบุด้วยว่าประเทศที่มีคะแนนต่ำ หมายความว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญมาตรการภาษีศุลกากรหรือมาตรการตอบโต้อื่นๆ จากรัฐบาลทรัมป์ซึ่งประเทศกลุ่มนี้มีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการตอบโต้จากสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างในกรณีแรก ประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงอาจให้คำมั่นในการเพิ่มรายจ่ายด้านการป้องกันประเทศสำหรับปี 2568 หากขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะเพิ่มงบป้องกันประเทศเพื่อตามใจสหรัฐฯ 


กรณีที่ 2 ประเทศกลุ่มเสี่ยงอาจส่งสัญญาณหยุดเข้าข้างจีน ซึ่งหมายถึงการผ่านกฎหมายจำกัดการลงทุนจากจีน การร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรเกี่ยวกับข้อมูลทางการค้า การต่อต้านการทูตแบบจีนการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการควบคุมการส่งออก แต่แนวทางนี้ก็เป็นเรื่องยากหากต้องการเข้าถึงตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่


กรณีที่ 3 ซึ่งมีความยากที่สุด ประเทศต่างๆ สามารถระงับข้อเสนอหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทอเมริกัน อาทิ การเก็บภาษีบริการดิจิทัลและกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป (EU) เพราะเงินภาษีดังกล่าวจะใช้ทำประโยชน์ให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงช่วยสนับสนุนบริษัทในประเทศที่อ่อนแอกว่า


กรณีที่ 4 ลดการขาดดุลการค้าของประเทศต่างๆ กับสหรัฐฯ ซึ่งมีความยากไม่แพ้กัน เนื่องจากดุลการค้าเกิดจากปัจจัยหลายประการ และภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางสิ่งที่ประเทศต่างๆ สามารถทำได้ อาทิ ประเทศต่างๆ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เทียบเท่ากับที่สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีสินค้าที่แต่ละประเทศส่งออก รวมถึงการที่ประเทศกลุ่มเสี่ยงสนับสนุนการซื้อสินค้าจากบริษัทอเมริกันเพิ่มขึ้น และซื้อสินค้าจากจีนน้อยลง รวมถึงระงับมาตรการอุดหนุนการส่งออก


ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะโทษประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับปัญหาขาดดุลการค้าได้ทั้งหมดเพราะจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตที่ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้ขาดดุลการค้ามากกว่าที่ควรจะเป็นและสหรัฐฯ ไม่มีนโยบายอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้การผลิตของสหรัฐฯ ลดลง เช่นเดียวกับการส่งออกลดลง ขณะที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น


ก่อนหน้านี้ “ทรัมป์” เพิ่งเปิดแนวรบทางการค้าใหม่กับเม็กซิโกและแคนาดา ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราร้อยละ 25 รวมถึงเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 ซึ่งทั้งเม็กซิโก แคนาดา และจีน ต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าร้อยละ40ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว


แนวคิดของ “ทรัมป์” คือต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศทั้ง 3 เข้าไปในสหรัฐฯ แทน แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น “แดเนียล แอนโทนี” จากบริษัทวิจัย “เทรด พาร์ตเนอร์ชิป เวิลด์ไวด์” ระบุว่า ในวาระแรกของ “ทรัมป์” ที่กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น การผลิตกลับคืนสู่สหรัฐฯ น้อยมาก


สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่สหรัฐฯ ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการผลิตสินค้าบางประเภทแต่ถึงแม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่ การย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ มักทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก ซึ่งผู้บริโภคจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ดังนั้น หากภาษีรัฐบาล “ทรัมป์” เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโกเพิ่มขึ้น ธุรกิจต่างๆ ก็มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศทั้ง 3 ไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่อาจแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ


CNN อ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่มองว่า “เวียดนาม” น่าจะเป็นผู้ท้าชิงอันดับต้น ๆ ในการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่าง ๆ เพราะต้นทุนการผลิตยังคงต่ำ ปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับ 7 ไปยังสหรัฐฯ และได้อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน


นับตั้งแต่ปี 2560ซึ่ง “ทรัมป์” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จนถึงปี 2566 เวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 1.14 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว


สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ขณะนี้เม็กซิโกส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ มากที่สุด เนื่องจากค่ายรถหลายแห่งเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเม็กซิโก แต่หากเม็กซิโกเผชิญกำแพงภาษี เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จะสามารถเร่งการผลิตแทนได้ 


ด้านอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและรองเท้านอกจากเวียดนาม ชาวอเมริกันน่าจะซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าเพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และกัมพูชา หากมีสงครามการค้ากับ 3 คู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จาก 4 ประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเป็นรองเท้าและเครื่องแต่งกายหรู อิตาลีน่าจะได้อานิสงส์


ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันที่เป็นผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่อันดับ 3 อาจเร่งการผลิตมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ย้ายการผลิตออกจากจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดไปสหรัฐฯ นอกจากนี้ บางประเทศในอาเซียนที่ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ก็น่าจะผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ได้เปรียบเรื่องการอ่อนค่าของสกุลเงินวอนและเยน 


อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งอาจพร้อมรับภาระภาษีที่สูงขึ้นแทนที่จะย้ายไปประเทศอื่น หากเป็นทางเลือกที่ถูกกว่ายกตัวอย่าง “ทรัมป์” เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นในปี 2561และประธานาธิบดีโจ ไบเดนยังคงภาษีไว้หลายรายการ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้หยุดนำเข้าสินค้าจากจีนโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ไม่ได้นำเข้ามากเท่าเดิม โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 5แสนล้านดอลลาร์ในปี 2560คิดเป็นร้อยละ22ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ส่วนในปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน4.27แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ14ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ


ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ถึงแม้สหรัฐฯ จะเก็บภาษีจาก 3 คู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่การจะถอนการลงทุนออกไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการหาแหล่งผลิตที่มีความพร้อมและต้นทุนต่ำใกล้เคียงกัน


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง