TNN "คอมเปค" ผู้ผลิตพีซีบี ไต้หวัน ทุ่ม 10,000 ล้านปักหมุดในไทย l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"คอมเปค" ผู้ผลิตพีซีบี ไต้หวัน ทุ่ม 10,000 ล้านปักหมุดในไทย l การตลาดเงินล้าน

"คอมเปค" ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน อัดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ รองรับตลาด PCB โลกขยายตัวสูง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังจากการเข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) หรือ PCB ของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จังหวัดสมุทรปราการ ว่าอุตสาหกรรม PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ระหว่างเร่งลงทุนสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนใหญ่มีแผนเดินเครื่องการผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า 

โดยบริษัท คอมเปค (Compeq) เป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อเดือนธันวาคม 2566 และได้ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 112 ไร่ ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,417 ล้านบาท โดยได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในเวลาเพียงประมาณ 1 ปี และจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

โรงงานของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Multilayer Printed Circuit Board ซึ่งสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุดถึง 34 ชั้นในแผงวงจรเดียว ทำให้สามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนและเสถียรภาพ (Reliability) สูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น ระบบสื่อสารและดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ตโฟน เครื่องมือแพทย์ และ Power Supply เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึงกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 6,600 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการลงทุนในเฟสแรกนี้จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยทันทีประมาณ 600 คน และจะขยายการจ้างงานถึงกว่า 1,500 คนในปีหน้า

การที่บริษัท คอมเปค ซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB อันดับต้น ๆ ของโลก ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย โดยเป็นการตั้งโรงงานนอกไต้หวันและจีนเป็นครั้งแรก และเริ่มการผลิตอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นฐานผลิต PCB ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน ที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยโครงการนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง รวมถึงระบบออโตเมชั่นสมัยใหม่ในสายการผลิต ซึ่งบริษัทจะช่วยพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ อีกด้วย 

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากคลื่นการลงทุน PCB ในครั้งนี้ นอกจากเรื่องบุคลากร การส่งออก และโอกาสทางธุรกิจของผู้ผลิตวัตถุดิบไทยแล้ว ยังจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นฐานสำคัญให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงอื่น ๆ ทั้ง EV, Data Center, Digital, เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2566 - พฤศจิกายน 2567) มีผู้ผลิตในอุตสาหกรรม PCB ระดับโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 107 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 173,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง