พิษเศรษฐกิจ ทำธุรกิจร้านอาหารทยอยปิดตัว l การตลาดเงินล้าน
สถานการณ์ร้านอาหารผ่านมุมมองผู้ประกอบการ ปี 2567 พบเงียบเหงาผิดปกติ รายเล็ก หากสายป่านไม่ยาวพอ ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องปิดตัว
คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ภาพรวมของ ธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเทศกาล ตั้งแต่สงกรานต์ มาจนถึงเทศกาลลอยกระทง ที่เคยคาดหวังว่าจะมียอดขายดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่หวังไว้
เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจ และต้องระมัดระวังการใช้จ่าย โดยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น การส่งออก และ หนี้ครัวเรือน เป็นต้น ล้วนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อให้หดหายไป ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกันยายน ปกติแล้วจะมีการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาครัฐ แต่ปีนี้ถูกจำกัดงบ จนทำให้ร้านอาหารเงียบเหงาผิดไปจากปกติ
แต่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ล่าสุดมีจำนวนกว่า 32 ล้านคน และคาดว่า ตลอดทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้จำนวน 35 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เป็นการเดินทางแบบอิสระ หรือ FIT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มกลาง และ บน ทำให้ร้านอาหารที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เติบโตดีขึ้นตาม
เช่นเดียวกับร้านอาหารที่มีจุดแข็งทางการตลาด เช่น ร้านอาหารในเครือ ไอเบอร์รี, สุกี้ตี๋น้อย รวมไปถึงร้านอาหารในกลุ่มตลาดมิชลิน ยังเติบโตได้ดีเช่นกัน
แต่สำหรับร้านอาหารในกลุ่มกลาง และ ล่าง จะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยรายที่ปรับตัวได้ และมีต้นทุนต่ำ เช่นไม่มีต้นทุนค่าเช่าร้าน และทำเอง ก็จะยังพออยู่ได้ รวมถึงรายที่ยังมีเงินทุนมากพอก็ยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ แต่รายที่สายป่านไม่มาก ก็อาจจำเป็นต้องปิดตัว รวมถึงร้านอาหารที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนจีน ก็พบว่ามีการเปลี่ยนมือเจ้าของกันบ่อยครั้ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน มาเที่ยวไทยไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด
ส่วนร้านอาหารที่ปิดตัวไป คาดว่าจะมีประมาณร้อยละ 5 (แต่การจะวัดเป็นตัวเลขทำได้ยาก เพราะร้านอาหารในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ได้จดทะเบียนประกอบการ)
คุณฐนิวรรณ กล่าวด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นง่าย เมื่อบางรายปิดตัวไป ก็จะมีรายใหม่เข้ามาแทนที่ และอาจจะมีมากกว่าที่ปิดไปเสียด้วยซ้ำ โดยตลาดร้านอาหารในปัจจุบันมีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากจำนวนร้านอาหารมีมากจนกลายเป็นภาวะ ซัพพลาย มากกว่า ดีมานด์ (โอเวอร์ซัพพลาย) และถูกตั้งคำถามว่า มีคนขายเยอะมากเกินไปหรือไม่
และเมื่อการแข่งขันรุนแรง จึงแน่นอนว่าใครที่แข็งแกร่งกว่า ทำตลาดสมบูรณ์กว่าก็จะอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ตลาดร้านอาหารโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งหากเศรษฐกิจดี ธุรกิจร้านอาหารก็จะดีขึ้นตาม
สำหรับจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร มีตัวเลขจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเมื่อดูตัวเลขย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า ร้านอาหารรายย่อย ที่เรียกว่าขนาด ไมโคร เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
โดยปี 2564 ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารมีจำนวนรวม 287,388 ราย ในจำนวนนี้ เป็นร้านขนาด ไมโคร มากที่สุด จำนวน 259,993 ราย ส่วนรายใหญจำนวน 96 ราย และ และรายขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 27,299 ราย
ปี 2565 จำนวนผู้ประกอบการรวม เพิ่มขึ้น เป็น 321,057 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้านขนาดไมโคร ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 296,626 ราย ส่วนรายใหญ่และรายกลางลดลง เหลือ 77 ราย และ 24,354 ราย ตามลำดับ
และในปี 2566 ตัวเลขผู้ประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้นทุกขนาด รวมเป็น 323,612 ราย โดยร้านขนาดไมโคร มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 92 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 297,593 ราย ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวน 109 ราย และเอสเอ็มอี จำนวน 25,910 ราย
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานเมื่อช่วงกลางปีนี้ คาดการณ์ตัวเลขร้านอาหารในประเทศไทยมีจำนวนรวม ประมาณ 680,000 ราย ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ของร้านอาหารทั่วประเทศ
และเมื่อเทียบความหนาแน่นของร้านอาหาร ในไทย กับในต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก โดยไทยมีจำนวนร้านอาหารเฉลี่ยที่ 9.6 ร้านต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ขณะที่ประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น ยังมีร้านอาหารต่ำกว่าไทย อยู่ที่ 7.5 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งสะท้อนถึงความร้อนแรงของธุรกิจ
ข่าวแนะนำ