TNN จบปมฉาว! "โฟล์คสวาเกน" ปิดโรงงานซินเจียง l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

จบปมฉาว! "โฟล์คสวาเกน" ปิดโรงงานซินเจียง l การตลาดเงินล้าน

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน Volkswagen ขายโรงงานของตนในซินเจียง ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอ้างถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจ

โฆษกของบริษัทกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า โรงงานแห่งนี้ซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของโดยเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทุนกับ SAIC Motor ของจีน ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปจนถึงปี 2562 และหลังจากนั้นก็ได้ถูกใช้งานเป็นศูนย์กระจายสินค้าสำหรับรุ่นที่ผลิตในโรงงานอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพูดถึงสาเหตุของการขายโรงงาน โฆษกของโฟล์คสวาเกน อ้างถึงแรงกดดันมหาศาลจากผู้ผลิตรถยนต์คู่แข่งที่หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้โฟล์คสวาเกนจำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายการผลิตของบริษัท และความต้องการรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่กำลังลดลงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย

ตามรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และในประเทศจีน รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนร้อยละ 45 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปีนี้

การขายโรงงานยังเกิดขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐฯและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาจีน ว่าใช้แรงงานบังคับและกระทำการละเมิดอื่น ๆ เช่น การกักขังชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ในซินเจียง ซึ่งเป็นภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ที่ผ่านมาจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างแข็งกร้าวมาหลายต่อหลายครั้ง และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า กองกำลังทางการเมืองบางกลุ่มได้เผยแพร่ข่าวลืออันเป็นเท็จเกี่ยวกับซินเจียงไปยังต่างประเทศมากจนเกินไป

ย้อนไปในปี 2022 ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ตีพิมพ์รายงานที่ระบุว่าจีนได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ส่วนในปี 2018 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็กล่าวหาจีนว่ากักขังชาวอุยกูร์และสมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆอย่างน้อย 800,000 คนและอาจจะมากกว่า 2 ล้านคน ในค่ายกักกันในภูมิภาค

โดยโฟล์คสวาเกน ต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการเป็นเจ้าของโรงงานในซินเจียงมาโดยตลอด แต่บริษัทยืนยันว่าไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นในโรงงานแห่งนี้ บริษัทกล่าวว่าการที่ผู้บริหารเยี่ยมชมโรงงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ใดๆถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือปัญหาในวงกว้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การตรวจสอบที่ดำเนินการเมื่อปีที่แล้วไม่พบสัญญาณของการบังคับใช้แรงงานในโรงงาน อย่างไรก็ตาม Financial Times รายงานเมื่อเดือนกันยายนว่าการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายนี้ยังต้องต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นได้เพิ่มการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้า

สถานการณ์นอกบ้านว่าเดือดแล้ว ในบ้านก็ระอุเช่นกัน ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในประเทศ และเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน การปิดโรงงานครั้งนี้จะถือเป็นการปิดโรงงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของบริษัทด้วย


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง