คนจีนแห่ซื้อแบรนด์หรูมือ2 ดันตลาดโต l การตลาดเงินล้าน
ตลาดสินค้าหรูมือสองในจีนกำลังเติบโต สวนทางยอดขายแบรนด์เนมมือหนึ่งที่หดตัว สาเหตุหลักจากปัจจัยทางเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นแรงกดดันต่อนักช้อปชาวจีนที่ยังนิยมในสินค้าหรู ให้หันไปสู่ตลาดมือสอง
สื่อ ไฟแนนเซียล ไทมส์ รายงานว่า ขณะที่กลุ่มสินค้าหรู ซึ่งรวมถึง Richemont เจ้าของ Cartier, Kering บริษัทแม่ของ Gucci และ LVMH ต่างก็รายงานยอดขายไตรมาส 3 ลดลงกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่น แต่รวมถึงตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน ที่ยอดขายหดตัวอย่างชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้าม ตลาดสินค้าหรูมือสองออนไลน์ในจีนกำลังเฟื่องฟูดี สาเหตุเพราะนักช้อปชาวจีน ที่ถูกผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ กำลังถูกดึงดูดให้ซื้อสินค้าหรูมือสองที่มีราคาถูกกว่า กันมากขึ้น
การลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าหรู (มือหนึ่ง) ในจีน นิโคลัส โบส (Nicolas Bos) ซีอีโอ ของ ริชมอนต์ คาดการณ์ว่า จะเป็นเทรนด์ในระยะกลาง ถึงระยะยาว ส่วนทาง เคอร์ริง ออกมาเตือนถึงผลกำไร ที่คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งในปีนี้ สะท้อนว่าเห็นถึงความวิตกกังวล ของผู้บริโภคคนจีน ต่อภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศ
ขณะเดียวกัน กลับมีสัญญาณของความต้องการในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองเพิ่มขึ้น และการเติบโต หลังมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Zhuanzhuan Group (จ้วนจ้วน กรุ๊ป) แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง ซึ่งเน้นไปที่สินค้าอิเลคโทรนิกส์ เข้าซื้อกิจการแพลตฟอร์มสินค้าแฟชันหรูมือสองที่ชื่อ ว่า Hongbulin (หงบู่หลิน) หรืออีกชื่อคือ PLUM (พลัม) ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี
โดยคาดการณ์กันว่า การควบรวมดังกล่าว ถือเป็นกลยุทธ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสินค้าหรูมือสอง ให้สามารถแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตได้
ทั้งนี้ ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Frost & Sullivan ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Tsinghua พบว่าตลาดหรูมือสอง เติบโตขึ้นจากปี 2015 ที่มีมูลค่า 300,000 ล้านหยวน เป็น 1 ล้านล้านหยวน ในปี 2020 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 138,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ไฟแนนเซียล ไทมส์ รายงานว่า แม้จะขาดข้อมูลของมูลค่าตลาดล่าสุด แต่ก็พบว่า ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าหรูมือสองออนไลน์ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ZZER (ซีเซอร์) และ Xianyu (เซียนยวี) ซึ่งทั้งสองราย เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ใช้งานนำสินค้าของตนมาขายบนแพลตฟอร์มได้
โดย ซีเซอร์ ซึ่งมีหน้าร้านเพียงแห่งเดียว ที่เซี่ยงไฮ้ ระบุว่ามีสินค้าใหม่เข้ามามากถึง 5,000 ชิ้นต่อวัน นั่นตอกย้ำให้เห็นถึงปริมาณมหาศาลของกระเป๋าถือและเสื้อผ้าระดับไฮเอนด์ที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศจีน
ขณะที่ แพลตฟอร์ม เซียนยวี ก็พบว่ามีการต่อรองราคากันอย่างคึกคัก บ่งชี้ได้ว่าผู้ซื้อมีความอ่อนไหวต่อราคามากขึ้น
ด้าน Jacob Cooke หัวหน้าฝ่ายบริหารของ กลุ่มการตลาด WPIC ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่โควิด 19 ระบาด ผู้คนเริ่มสนใจสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองกันมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า และเกิดจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางที่ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ โควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ต่อไป
โดย ราคา เป็นส่วนจูงใจสำคัญ เช่นที่ ซีเซอร์ พบว่ากระเป๋า Louis Vuitton กำหนดราคาขาย อยู่ที่ 4,762 หยวน ถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคามือหนึ่ง ที่ราคา 14,300 หยวน
เช่นเดียวกันกับอีกร้านในย่าน French Concession ในเซี่ยงไฮ้ ขายกระเป๋า Chanel ที่ผลิตในปี 2014 ในราคา 35,800 หยวน จากราคาเดิมอยู่ที่ 41,000 หยวน
อย่างไรก็ตาม คุก มองว่า การเติบโตของตลาดสินค้าหรูมือสองนั้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าใหม่ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของแบรนด์ได้
แต่ในอีกมุมมองของ Federica Levato ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Bain บริษัทที่ปรึกษา เชี่ยวชาญด้านสินค้าหรูและแฟชันระดับโลก ให้ความเห็ว่า นี่ เป็นสถานการณ์ที่อย่างน้อยก็ช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ ที่อาจยังไม่เคยซื้อสินค้าฟุ่มเฟือนมาก่อน ให้เข้ามาสู่ตลาดนี้มากขึ้น และ บ่งชี้ได้ว่า คนจีนส่วนใหญ่มีความเต็มใจที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้
นอกจากนี้ สื่อดังกล่าว ยังรายงานด้วยว่า สินค้าหรูมือสอง ไม่เพียงแค่ดึงดูดนักช้อปชาวจีนเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการมองหาสินค้าที่มีราคาถูกกว่า อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ มีรายงานผลศึกษาที่เกี่ยวตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมือสอง ซึ่งจัดทำโดยมหาวิยาลัย เศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ ในกรุงปักกิ่ง ร่วมกับ สมาคมตรวจสอบและกักกันสินค้าเข้า-ออก จีน ระบุว่า สินค้าฟุ่มเฟือยมือสองกำลังเติบโตแรงทางออนไลน์ และการแข่งขันก็กำลังดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้รับแรงผลักดันการเติบโตจากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น และการไลฟ์สด
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราหมุนเวียนของสินค้าหรูมือสองในประเทศจีน ยังคงตามหลังตลาดขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยอัตราหมุนเวียนของสินค้าหรูมือสองในสหรัฐฯ มีสูงกว่าร้อยละ 30 ในปี 2021 ซึ่งสูงที่สุดในโลก
ขณะที่ตลาดหรูมือสองในจีน กำลังได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูง และกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและแสวงหาการยกระดับการบริโภคของตนเอง โดยพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 29 ปี ถึง 41 ปี กลายเป็นกลุ่มประชากรหลักในการซื้อสินค้าหรูมือสอง รวมถึงกลุ่ม เจน ซี ที่มีแนวโน้มซื้อสินค้าวินเทจ และสินค้าที่มีการออกแบบที่ไม่ซ้ำใคร หรือที่มีการผลิตจำนวนจำกัด
ไชน่า เดย์ลี่ ยกตัวอย่างพนักงานออฟฟิศสาว วัย 31 ปี ในกรุงปักกิ่ง เมลิสซ่า หลิว ที่บอกว่าตนเองเพิ่งซื้อกระเป๋า Chloe (โคลเอ้) มือสองจากร้านแห่งหนึ่ง ในราคาต่ำกว่า 3,000 หยวน ซึ่งเธอเน้นย้ำว่า มีราคาถูกกว่ากระเป๋าใบใหม่มาก และยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี โดยการถูกนำเสนอในลักษณะนี้ผ่านบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะจากผู้บริโภครุ่นใหม่ ได้กระตุ้นความสนใจต่อสินค้าเหล่านี้ให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อสินค้าหรูมือสอง ว่าสินค้าที่มีการจำหน่ายอยู่นั้น เป็นของแท้ หรือไม่ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคก็ว่าได้ โดยรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การพัฒนาที่แข็งแกร่งของสถาบันประเมินราคา จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาด // โดยพบว่า ปี 2023 จำนวนสินค้าหรูมือสองที่ได้รับการประเมินราคาโดยสถาบันต่างๆ ในจีน นั้น แตะระดับ 10 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบเป็นรายปี
ด้าน จาง เหมิงเซีย (Zhang Mengxia) ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนที่ มหาวิยาลัย เศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว หลุยส์ วิตตอง เป็นแบรนด์ที่มีความต้องการสูงสุดในประเภทกระเป๋าถือ และเป็นประเภทที่มีการซื้อขายบ่อยที่สุด ขณะที่ โรเล็กซ์ เป็นแบรนด์ ที่มีความต้องการสูงสุดในกลุ่มแบรนด์นาฬิกาหรู
ทั้งพบว่า ปริมาณการซื้อขายกระเป๋าถือ มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของตลาดการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองทั้งหมด เนื่องจากมีรูปแบบที่หลากหลาย และใช้งานได้จริง รองลงมาคือเครื่องประดับ เสื้อผ้า และรองเท้า ตามลำดับ
และปริมาณการซื้อขายสินค้าหรูมือสองอยู่ที่ปักกิ่งสูงสุด เมื่อปีที่แล้ว รองลงมาคือเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เฉิงตู และกว่างโจว
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดสินค้าหรูมืองสองในจีนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดยังมีอัตราการเจาะตลาดต่ำกว่าร้อยละ 10 และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรป
ข่าวแนะนำ