วิกฤตสาหร่าย "เถ้าแก่น้อย" ขึ้นราคาต้นปี 68 l การตลาดเงินล้าน
วิกฤตสาหร่ายครั้งใหญ่ในรอบ 37 ปี ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทย "เถ้าแก่น้อย" เตรียมปรับขึ้นราคาอีกร้อยละ 5-10 ซึ่งจะเริ่มในต้นปีหน้า
คุณ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการนำเสนอข้อมูลทางออนไลน์ แก่นักลงทุน ถึงสถานการณ์สาหร่าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อย โดยบอกว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกตินัก เรียกว่าเป็น โควิดของสาหร่าย ก็ว่าได้ เพราะเกิดขึ้นในรอบ 37 ปี
ส่วนตัวที่ทำธุรกิจมานานกว่า 20 ปี ก็ไม่เคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องเจอกับปัจจัยท้าทายเยอะมาก ตนเองและทีมงานก็จะบริหารจัดการให้ดีที่สุด เพื่อนำพาบริษัทเติบโตต่อไป
ปีนี้ บริษัทฯ เจอกับภาวะต้นทุนสาหร่ายที่สูงมาก และบางสเปค ก็ปรับขึ้นไปเกือบ 100% ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนจากกลยุทธ์เชิงรุกมาก ๆ มาเป็นการรักษาความสมดุล โดยจะไม่เน้นการเผากำไร เพื่อเพิ่มยอดขาย แต่จะพยายามบาลานซ์ให้มั่นคงและยั่งยืน
ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ดำเนินการ คือการปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบมากจากสาหร่าย จะเริ่มปรับขึ้นที่ร้อยละ 5-10 และเริ่มในประเทศก่อน โดยจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2568
ส่วนสถานการณ์สาหร่าย จากการได้ไปพบปะกับซัพพลายเออร์เกาหลีใต้ 6 รายใหญ่ ประเมินได้ว่าสถานการณ์ผลผลิตสาหร่ายในเกาหลีใต้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ราคาพุ่งขึ้นไปกว่านี้และกระทบกับประชาชน จึงมีการสนับสนุนพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น แต่ด้านราคา คาดว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้บริษัทรายใหญ่ ๆ ที่ใช้สาหร่าย มีการสต็อกวัตถุดิบไว้น้อยมาก และเถ้าแก่น้อย ก็เช่นกัน ที่ไม่สต็อกวัตถุดิบไว้มากนัก
ดังนั้น หากเริ่มเปิดฤดูกาลเก็บเกี่ยวรอบใหม่ ในช่วงต้นฤดู มีคาดการณ์ว่า ราคาสาหร่ายมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปอีก แต่สำหรับบริษัทฯ เราจะเน้นซื้อในช่วงกลาง และปลายฤดู ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคายังต้องขึ้นอยู่กับ ดีมานด์ และซัพพลาย ซึ่งด้านซัพพลายในเกาหลีใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไปดูที่ญี่ปุ่น และจีน ด้วยว่าจะสามารถเพาะปลูกได้หรือไม่ หลังจากปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเพาะปลูกไม่ได้เลย และจำเป็นต้องนำเข้าสาหร่ายจากเกาหลีใต้ในทุกราคา และทำให้ราคาสาหร่ายพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ เถ้าแก่น้อย รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 1,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.6 แบ่งเป็นยอดขายในประเทศจำนวน 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และยอดขายจากตลาดต่างประเทศกว่า 908 ล้านบาท ลดลงไปร้อยละ 3.7
และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.4
ส่วนงวด 9 เดือน รวมรายได้จากการขายกว่า 4,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตของตลาดในประเทศร้อยละ 7.1 และจากต่างประเทศร้อยละ 6.1
และกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน อยู่ที่ 697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าว รายงานว่า ยอดขายในประเทศจีน ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายนัก เนื่องจากความต้องการชะลอตัว จากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไป รวมถึงการปรับราคาสินค้าตั้งแต่ต้นปี แต่อัตราผลกำไรยังคงรักษาระดับได้ แสดงให้เห็นถึงการจัดการกลยุทธ์การขายในจีนที่ยังคงมีประสิทธิภาพ รวมถึงตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีการจัดการบริหารอย่างต่อเนื่อง
ด้านคุณ วชิระ ญาณทัศนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานการค้าต่างประเทศ ของ เถ้าแก่น้อย กล่าวว่า สถานการณ์ในตลาดจีนยังคงเหนื่อยอยู่มาก เพราะผู้บริโภคชาวจีนระมัดระวังการใช้จ่าย และเน้นเรื่องของความคุ้มค่า หรือ แวลู่ ฟอร์ มันนี่
โดยได้ฉายภาพสถานการณ์ในตลาดจีนด้วยว่า ช่องทางการขายผ่านทางออฟไลน์ลดลง ส่วนช่องทางออนไลน์เติบโตได้ดี แต่ก็เปลี่ยนไป จากเดิมยอดขายหลักจะมาจากแพลตฟอร์มรายใหญ่ ทั้ง ทีมอลล์ เถาเป่า รวมไปถึง เจดี ดอท คอม แต่ปัจจุบันย้ายไปที่แพลตฟอร์มใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น โต่วอิน (หรือ ติ๊กตอก) และ พินตัวตัว ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก และมีการใช้กลยุทธ์ที่สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว
แต่สำหรับเถ้าแก่น้อย ยังคงยึดฐานทัพหลัก ซึ่งยังคงเป็น ทีมอลล์ โดยพยายามเน้นทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ออกสินค้าใหม่ และใช้ KOL รีวิวสินค้าเพื่อผลักดันยอดขายและให้แบรนด์เถ้าแก่น้อยยังอยู่ในใจผู้บริโภคต่อไป ส่วน ร้านค้าปลีกค้าส่ง ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่าก็มีการปิดสาขาไปหลายแห่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่า ร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงโควิด ดังนั้น บริษัทฯ จะพยายามเข้าไปในร้านค้าดังกล่าวให้มากขึ้น โดยร้านค้าเหล่านี้จะเน้นเรื่องของราคา ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งเน้นเรื่องความคุ้มค่า บริษัทฯ ก็จะเน้นออกสินค้าที่ตรงกับความต้องการ และสู้ในตลาดนี้ต่อไปให้ได้
ส่วนตลาดต่างประเทศอื่น ๆ เติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่มีสินค้าเถ้าแก่น้อยไปวางจำหน่ายใน วอลมาร์ต ถึง 1,200 สาขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนที่แล้ว รวมถึง ALDI (อัลดิ) ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เข้าไปได้ 120 สาขา ในโซนแคลิฟอร์เนีย และ ร้านโครกเกอร์ (KROGER) จำนวน 800 สาขา ส่วนตลาดยุโรป ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ผู้บริหาร เถ้าแก่น้อย ได้ตอบคำถามนักลงทุน ระหว่างการนำเสนอข้อมูลทางออนไลน์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ชานมไต้หวัน จัสท์ ดริ้งค์ ด้วย โดยบอกว่า ได้เลิกขายสินค้าดังกล่าวแล้ว เนื่องมาจากหลายปัจจัย (แต่ก็ไม่ได้ขยายความในรายละเอียดมากนัก) โดย จัสท์ดริ้งค์ เปิดตัวมาครั้งแรกในช่วงปลายปี 2563 ถือว่าเป็นการปิดฉาก 4 ปี ของผลิตภัณฑ์อื่น ที่ไม่ใช่สาหร่ายไปอีก 1 รายการ
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 คุณ อิทธิพัทธ์ กล่าวว่า ยังมองในมุมบวก ส่วนปี 2568 จะเน้นทำโครงสร้างราคาใหม่ของผลิตภัณฑ์สาหร่ายใหม่ ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับต้นทุนใหม่
อีกทั้ง สำหรับตลาดในประเทศ จะเน้นเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี ลดโปรโมชันสำหรับสินค้าบางรายการที่ไม่ได้เน้น และตัดสินค้าบางรายการที่ไม่ใช่สินค้าหลักออกไป ขณะเดียวกัน จะโฟกัสค่าใช้จ่ายทางการตลาดกับสินค้าที่สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ สำหรับแบรนด์เถ้าแก่น้อยที่ใช้วัตถุดิบสาหร่ายน้อยลง ซึ่งหลังจากพัฒนามาต่อเนื่อง คาดว่าปีหน้านี้น่าจะได้เปิดตัว และจะสามารถจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงด้านการวิจัยและพัฒนา การขอสิทธิ บีโอไอ ใหม่เพื่อทดแทนบัตรเก่าที่กำลังหมดลง และการเพิ่มทักษะบุคลการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้มากขึ้น
ข่าวแนะนำ