สศช.แนะศึกษาเข้มก่อนใช้ภาษีแบบติดลบ
สศช.เสนอก่อนนำภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ “Negative Income Tax : NIT” มาใช้ควรมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ ทั้งเรื่อง "กลุ่มเป้าหมาย-เกณฑ์รายได้ - งบประมาณ" ที่สำคัญต้องมีมาตรการจูงใจดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษีให้ได้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เรื่อง “ภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นการรวมระบบการหารายได้ และการให้ความช่วยเหลือไว้ในระบบเดียว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้รูปแบบหนึ่ง รวมถึงช่วยลดภาระงบประมาณ
เนื่องจากในแต่ละปีภาครัฐใช้งบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการสังคมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งแต่ละโครงการยังดำเนินการเป็นแบบแยกส่วน และไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลรายได้และสวัสดิการของประชาชน ทำให้การให้สิทธิประโยชน์เกิดความซ้ำซ้อนและใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้มีการนำ Negative Income Tax มาประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ โดยแต่ละประเทศนำมาประยุกต์ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และการกำหนดขนาดของสิทธิประโยชน์/เงินช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการลดความยากจนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร นอกจากนี้พบว่าประเทศที่สามารถนำ Negative Income Tax มาประยุกต์ใช้และยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบต่ำ
อย่างไรก็ดี แม้การนำ Negative Income Tax มาปรับใช้ จะมีประโยชน์ทั้งกับประชาชน และภาครัฐ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและศึกษาให้รอบครอบ
1. การกำหนดวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย
2. การกำหนดเกณฑ์รายได้ และระดับการช่วยเหลือให้มีความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถกำหนดเกณฑ์รายได้ที่สามารถจูงใจให้คนทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการทบทวนเกณฑ์เป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
3. การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการ Negative Income Tax และศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และภาระทางการคลัง อาทิ การพิจารณายกเลิกบางมาตรการที่มีความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ โดยรวมการช่วยเหลือเป็นระบบเดียว ควบคู่ไปกับการดึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เข้าระบบภาษี พร้อมกับกำหนดบทลงโทษ และบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแรงจูงใจในการกระทำผิด (Moral hazard)
เลขาธิการ สศช. ย้ำว่า การที่ไทยจะทำ Negative Income Tax ได้นั้น ต้องสร้างแรงจูงใจดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษี โดยให้เห็นว่าการเข้าระบบภาษีจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะสวัสดิการที่จะได้รับ และต้องมีการออกแบบตัวระบบให้ดี และต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดทั้งเกณฑ์รายได้ และระดับให้การช่วยเหลือว่าควรจะเป็นเท่าไร เพื่อให้เกิดแรงจูงใจเข้ามาในระบบภาษี ทั้งหมดนี้ต้องมีความชัดเจนก่อนจะนำ Negative Income Tax มาปรับใช้ในไทย
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ