ธปท.ชี้ 5 ข้อเท็จจริงสภาพคล่อง-แบงก์ให้กู้
ธปท. แจงข้อเท็จจริง 5 ประการ เกี่ยวกับการดูสภาพคล่องและหลักเกณฑ์ของของแบงก์ชาติ ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อเท็จจริง 5 ประการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการดูดปล่อยสภาพคล่องของ ธปท. และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หลังเจอคำถามบ่อยขึ้นว่า การที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อลดลง มาจากที่ ธปท. "ดูดสภาพคล่อง" ออกจากระบบมากเกินไปหรือไม่
ข้อเท็จจริงที่ 1: ระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มากตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากตัวเลขยอดเงินฝากและเงินลงทุนของ ธนาคารที่อยู่ที่ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา สูงถึง 4-5 ล้านล้านบาท
แม้ ธปท. ต้องดูดสภาพคล่องจากระบบ ธพ. จำนวนมากหลักๆ มาจากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน แต่ยอดเงินฝากและเงินลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก สะท้อนว่าภาคธนาคารมีสภาพคล่องระยะสั้นจำนวนมากและเพียงพอ ซึ่งแปลว่าไม่ได้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชน แต่เป็นเหตุผลอื่นที่ทำให้ ธพ. เลือกที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อ
ข้อเท็จจริงที่ 2: ธปท.ไม่ได้กำหนดปริมาณการดูดซับสภาพคล่องในแต่ละวัน แต่เป็นธนาคารที่จะบริหารจัดการสภาพคล่องในแต่ละวันและนำสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากกับ ธปท. ตามความเหมาะสมของธนาคารแต่ละแห่ง
ข้อเท็จจริงที่ 3: ธปท.ไม่ต้องดูดหรือปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติม เมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ต้องดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบเพิ่มขึ้น เพื่อลดอุปทานของสภาพคล่องและทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น
แต่ในความเป็นจริง ธปท. ไม่ต้องปรับการดูดสภาพคล่อง เนื่องจากตลาดมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำธุรกรรมกับ ธปท. ได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินอยู่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท. ไม่จำเป็นต้องปรับสภาพคล่องในระบบ
ข้อเท็จจริงที่ 4: การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของธนาคารขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และ ระดับความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้
ข้อเท็จจริงที่ 5: ธปท.ไม่มีการปรับเกณฑ์การกำกับด้านสินเชื่อให้เข้มขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา โดยหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพียงระบุว่า ธนาคารจะต้องพิจารณากำหนดค่างวดให้เหมาะสมกับการดำรงชีพของลูกหนี้ ให้ลูกหนี้มีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ Responsible Lending มีการปรับเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาและให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการกู้ยืม การช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง และการกำหนดให้ธนาคารต้องนำเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ประชาชนก่อนการเป็นหนี้เสีย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอีก 1 ครั้ง ก่อนการโอนขายหนี้หรือดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทันท่วงที
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ