สหรัฐฯจี้ “กูเกิล” ขาย Chrome- Android
อัยการสหรัฐฯ จี้ “กูเกิล” ตัดขาย “โครม-แอนดรอยด์” ยุติการผูกขาดตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้น
อัยการสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อศาลว่า “กูเกิล” (Google) ในเครือ “อัลฟาเบต” (Alphabet) จำเป็นต้องขายเว็บเบราเซอร์ “โครม” (Chrome) ยอมแบ่งปันข้อมูลและผลการสืบค้นข้อมูล รวมถึงอาจต้องขายระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” (Android) เพื่อยุติการผูกขาดตลาดสืบค้นข้อมูลออนไลน์ หรือเสิร์ชเอ็นจิ้น
มาตรการที่สำนักงานอัยการภายใต้กระทรวงยุติธรรมเสนอเป็นส่วนหนึ่งของคดีสำคัญ ซึ่งอาจเปลี่ยนรูปแบบการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้งานออนไลน์
มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ทศวรรษ โดยบังคับใช้ผ่านคณะกรรมการที่ศาลแต่งตั้งเพื่อแก้ไขการผูกขาดตลาดสืบค้นข้อมูลและโฆษณาในสหรัฐฯ ซึ่ง “กูเกิล” ครองสัดส่วนร้อยละ 90 ในตลาด
กระทรวงยุติธรรมและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดระบุในเอกสารยื่นฟ้องต่อศาลว่า พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายของ “กูเกิล” ทำให้คู่แข่งสูญเสียช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ รวมถึงเสียโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรด้านการจัดจำหน่ายที่อาจเปิดทางให้นวัตกรรมและคู่แข่งใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด
ส่วนหนึ่งในข้อเสนอของทางการ รวมถึงการยุติข้อตกลงพิเศษที่ “กูเกิล” จ่ายเงินปีละหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับ “แอปเปิล” และผู้จำหน่ายอุปกรณ์รายอื่น ๆ เพื่อให้เครื่องมือสืบค้นข้อมูลของกูเกิลเป็นค่าเริ่มต้นบนแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนเหล่านั้น
ด้าน “เคนต์ วอล์กเกอร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ “อัลฟาเบต” ระบุว่า แนวทางของกระทรวงยุติธรรมจะส่งผลให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภค นักพัฒนาแอปพลเคชัน และธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงกระทบต่อความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับโลกของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่จำเป็นที่สุด
อย่างไรก็ตาม ศาลกำหนดวันพิจารณาคดีนี้ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่ง “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และหัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดคนต่อไปจะเข้ารับตำแหน่ง และอาจเปลี่ยนแนวทางในคดีนี้
ข่าวแนะนำ