ยานยนต์โลกป่วนหนัก คาดตกงานนับแสนคน l การตลาดเงินล้าน
รอบปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์โลกปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน และเลิกจ้าง ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่บางราย ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน คาดส่งผลกระทบต่อแรงงานเพิ่มขึ้นนับแสนตำแหน่ง
ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกหลายราย ต่างทยอยประกาศแผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุน และเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก
เริ่มที่ "GM" หรือ เจเนอรัล มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ก่อน ประกาศเลิกจ้างพนักงาน ประมาณ 1,000 คนทั่วทั้งองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ศูนย์เทคโนโลยีของจีเอ็ม ในเมืองวอร์เรน รัฐมิชิแกน
โดยให้เหตุผลของการปลดคนในครั้งนี้ว่า เพื่อลดต้นทุน และจัดลำดับความสำคัญของแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งในปีนี้ จีเอ็ม ตั้งเป้าหมายจะลดต้นทุนคงที่ราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะต้องรับมือกับหลายปัจจัยรอบด้าน ทั้ง ยอดขายในสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว (เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง) รวมถึงธุรกิจในจีน ก็ถดถอยลง และการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในท่ามกลางการยอมรับของผู้บริโภคที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม การปลดคนครั้งนี้ ของ จีเอ็ม ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 เดือน ของปี 2567 ซึ่งรวมตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นจำนวนประมาณ 3,700 คน จากครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม มีการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 1,000 คน ในแผนกซอฟต์แวร์ และเมื่อเดือนกันยายน ได้เลิกจ้างพนักงานไปราว 1,700 คน ในโรงงานผลิตในแคนซัส
ส่วนกลุ่ม "สเตลแลนทิส" (Stellantis) เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยมีแบรนด์ในกลุ่ม เช่น Chrysler, Dodge, Fiat และ Jeep ซึ่ง สเตลแลนทิส ประกาศเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า จะลดกะการผลิตลง และเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,100 คน ที่โรงงาน Jeep ในรัฐโอไฮโอ ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาสินค้าคงคลังซึ่งอยู่ในระดับสูง และมีรายได้ลดลง โดยการเลิกจ้าง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ของปี 2568
ทั้งนี้ สเตลแลนทิส รวมถึง แบรนด์ Jeep กำลังพยายามดำเนินการตามแผนฟื้นฟู หลังยอดขายในสหรัฐฯ ลดลงมาต่อเนื่องมานาน 5 ปี และปีนี้อาจกลายเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยแผนดังกล่าว ยังรวมไปถึงการลดราคาในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงรุ่นที่สินค้าคงคลังจำนวนมาก
ด้านค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น "นิสสัน" ก็ประกาศแผนการปรับโครงสร้างตามมาแบบไล่เรี่ยกัน โดย นิสสิน มีแผนเลิกจ้างพนักงานมากถึง 9,000 ตำแหน่งทั่วโลก และจะมีการลดกำลังการผลิตลงคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของกำลังการผลิตทั้งหมด รวมถึงมาตรการลดต้นทุนด้านอื่น ๆ เช่น การลดเงินเดือนครึ่งหนึ่งของ ซีอีโอ และกรรมการบริหาร โดยสมัครใจ และจะขายหุ้นบางส่วนที่ถืออยู่ใน มิตซูบิชิ มอเตอร์ อีกด้วย
การปรับโครงสร้างองค์กรของ นิสสัน ในครั้งนี้ ทางผู้บริหารระบุว่า บริษัทกำลังใช้มาตรการเร่งด่วนในการจัดการกับ สถานการณ์รุนแรง โดยเกิดขึ้นหลังจาก รายได้สุทธิของนิสสัน ในครึ่งปีแรก ลดลงมากถึงร้อยละ 94 และบริษัทยังได้ปรับลดประมาณการกำไรจากการดำเนินงานประจำปีลงเหลือ 500,000 เยน จากที่คาดการณ์ไว้ 600,000 เยน เนื่องจากมียอดขายที่ตกต่ำลงทั้'ในตลาด จีน ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ
มาดูกันต่อที่ "โฟล์คสวาเกน" ที่กำลังมีข้อพิพาทกับสหภาพแรงงาน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม จนถึงปัจจุบัน ถึงแผนการเลิกจ้าง และลดค่าจ้างลงร้อยละ 10 รวมถึง จะไม่มีการขึ้นเงินเดือนในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทางสหภาพแรงงาน ประเมินว่าจะกระทบต่อพนักงานในวงกว้าง เป็นหลักหมื่นตำแหน่ง และคาดการณ์ว่า เงินเดือนพนักงานจะถูกลดลงราวร้อยละ 18
นอกจากนี้ โฟล์คสวาเกน ยังมีแผนจะปิดโรงงานถึง 3 แห่ง และลดขนาดโรงงานแห่งอื่นๆ ทั้งหมด ในเยอรมนี จากที่มีโรงงานในเยอรมนี 10 แห่ง พนักงานรวมกันกว่า 300,000 คน ซึ่งแผนการปิดโรงงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปี ของบริษัทที่จะปิดโรงงานในบ้านเกิด
ท่ามกลางแรงกดดันต่อต้นทุนที่สูงขึ้น และการแข่งขันในจีน ผู้บริหารของ โฟล์คสวาเกน กล่าวว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างใหม่จะช่วยให้บริษัทฯ มีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
นอกจากนี้ โฟล์คสวาเกน รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ลดลงไปร้อยละ 42 โดยชี้แจงถึงสาเหตุ ว่าเกิดจากยอดขายที่อ่อนแอลงในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขณะเดียวกัน มีต้นทุนสูงและค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ดี รอยเตอร์รายงานว่า โฟล์คสวาเกน กำลังเผชิญกับปัจจัยความท้าทายหลายด้าน เช่น การมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ซับซ้อน การลงทุนที่ผิดพลาดในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การตัดสินใจด้านการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนรายได้ที่ลดลงจากจีน เป็นต้น
มาปิดท้ายที่ อาวดี้ ในเครือของ โฟล์คสวาเกน ก็ประกาศแผนลดพนักงานลงร้อยละ 15 เพื่อลดต้นทุน โดยจะยังปกป้องตำแหน่งในสายการผลิตที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ตำแหน่ง และจะลดพนักงานในแผนกอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนประมาณ 4,500 คน
การปลดคน ของอาวดี้ เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะผลกำไรสุทธิ ตกต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง และมีค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึง การปิดโรงงาน อาวดี้ ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งจะเกิดขึ้น ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 โดยจะมีคนงานอีกราว 3,000 คนที่ได้รับกระทบ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลกระทบมาจากการเติบโตของ EV จีน ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่สภาพตลาดหดตัวลงเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลง รวมถึงการลงทุนจำนวนมากสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า จนต้องมีการลดต้นทุน และเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก
หากมองไปในอนาคต มีคาดการณ์อีกว่า การเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาจทำให้มีการสูญเสียตำแหน่งงาน ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี มากถึง 186,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2578
โดยรายงานฉบับใหม่ ของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนี เผยว่า ตั้งแต่ปี 2562 มีการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปแล้วกว่า 75,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เกือบ 8,900 ตำแหน่ง เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นรูป โลหะ แต่ก็มีการจ้างงานใหม่กลับเข้ามาทดแทนจำนวน 29,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสายงานวิศวกรรมยานยนต์ เมื่อนำมาหักลบกันแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานไปแล้ว ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมสุทธิ เป็นจำนวน 46,000 ตำแหน่ง
คาดการณ์ว่า ภายในปี 2578 เมื่อมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้สูญเสียตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นอีก 140,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะรวมเป็น 186,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตหนัก เนื่องจากสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัท
เช่น ที่เกิดขึ้นแล้วกับ โฟล์คสวาเกน ที่ต้องดำเนินการลดต้นทุนครั้งใหญ่ รวมถึงแผนการปิดโรงงานและลดขนาดโรงงานในประเทศ เยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป
ด้านประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมนี้ ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ที่บริษัทต่าง ๆ และพนักงานกำลังใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมาย
พร้อมบอกด้วยว่า บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ผู้ผลิต และซัพพลายเออร์ยานยนต์ทั่วโลก กำลังลงทุนด้วยเม็ดเงินประมาณ 280,000 ล้านยูโร (คิดเป็น มากกว่า 10 ล้านล้านบาท) สำหรับการวิจัยและพัฒนาเพียวอย่างเดียว ในช่วงระหว่างปี 2567 ถึงปี 2571 และจะใช้เงินลงทุนอีกกว่า 130,000 ล้านยูโร (คิดเป็นกว่า 4 ล้าน 7 แสน ล้านบาท) ในการปรับเปลี่ยนโรงงาน ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ข่าวแนะนำ