TNN "อิตาเลียนไทย" ขาดทุนหนัก ทั้งปีอาจเกิน 5,000 ล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"อิตาเลียนไทย" ขาดทุนหนัก ทั้งปีอาจเกิน 5,000 ล้าน

"อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" ยังคงเผชิญผลขาดทุนสุทธิต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 โดยจากการประเมินของนักวิเคราะห์ ระบุว่าผลประกอบการที่ทรุดหนัก เกิดจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจรับเหมาฯที่ลดลงอย่างมาก ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ด้วยผลงานทั้งปี บริษัทอาจจะขาดทุนเกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นต่อไป

บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลว่า "อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" หรือ ITD ได้รายงานผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3 ด้วยผลขาดทุนสุทธิ 2,820 ล้านบาท นับเป็นผลขาดทุนหนักติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 หลังจากงวดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ITD ก็รายงานผลผลขาดทุนสุทธิ 1,768 ล้านบาท 


โดยฝ่ายวิจัยฯ ระบุว่า ผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องของ ITD เกิดจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยและบังคลาเทศที่ประสบปัญหาต้นทุนบานปลาย ทำให้ต้องมีการถอดกำไรที่เคยรับรู้ในอดีตออก บวกกับโครงการเหมืองแม่เมาะ 9 ยังคงประสบปัญหาด้านเครื่องจักร ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากับผู้ว่าจ้าง ส่งผลให้การได้รับชำระเงินจากผู้ว่าจ้างถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่ ITD เอง ยังมีต้นทุนคงที่ต้องแบกรับตลอดเวลา ส่งผลทำให้งวดไตรมาส 3 นี้ บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยติดลบร้อยละ 3.81 เทียบกับระดับปกติที่เคยทำได้ร้อยละ 8-10 


นอกเหนือจากนี้ ITD ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษ จากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัญจะสูญอีกจำนวน 420 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนลูกหนี้การค้าและรายได้ที่ยังไม่เรียกชำระ และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในงบการเงินรวมอีก 471 ล้านบาท จากการแข็งค่าของเงินบาทในไตรมาส 3 ด้วย


ขณะที่ปัจจุบัน ITD กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน จากการทำ 2 ธุรกรรมสำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีหน้า และจะส่งผลอย่างมากต่อฐานะการเงินและผลประกอบการในอนาคต ประกอบด้วย


1. การปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท APPCH (เหมืองโปแตซ อุดรธานี) โดยมีพันธมิตรจากจีนคือ SDIC เข้ามาร่วมถือหุ้น


2. การขายหุ้น ITD Cementation ทั้งหมดให้กับ Renew Exim DMCC ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้กลุ่ม Adani ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,863 ล้านบาท และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการบริหารจัดการทางการเงินและทรัพย์สินของ ITD ที่มีข้อตกลงกับกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อของบริษัทฯ ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่า ITD น่าจะมีกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว ราว 6,000 - 7,000 ล้านบาท 


ฝ่ายวิจัยประเมินต่อว่า แม้ว่าการขายหุ้น ITD Cementation ออกไป จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและลดภาระหนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในงบการเงินรวมในอนาคตของ ITD ก็จะยังปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญต่อไป เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ITD Cementation มีผลประกอบการกำไรต่อเนื่อง ในขณะที่งบการเงินรวมของ ITD มีผลขาดทุน แสดงให้เห็นว่างบการเงินของ ITD หากไม่รวมผลประกอบการของ ITD Cementation เข้ามา ก็จะยิ่งมีผลประกอบการที่ขาดทุนมากขึ้นไปอีก


ทั้งนี้ เมื่อผลประกอบการ 9 เดือนของ ITD ที่มีขาดทุนสุทธิสูงถึง 4,466 ล้านบาท ในขณะที่งวดไตรมาส 4 บริษัทยังมีโอกาสขาดทุนเพิ่มเติม ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการขาดทุนปี 2567 เพิ่มจาก 2,783 ล้านบาท เป็น 5,247 ล้านบาท และการที่ ITD กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางบริษัทในอนาคต ฝ่ายวิจัยฯ จึงประเมินมูลค่าเหมาะสมของ ITD ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงาน ได้ราคาเหมาะสมที่ 0.60 บาท ท่ามกลาง Sentiment เชิงลบที่จะกดดันราคาหุ้นต่อไป

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง