TNN COP29 ดันการเงินสีเขียว ไทยนำหมูเด้งโชว์ในงาน

TNN

เศรษฐกิจ

COP29 ดันการเงินสีเขียว ไทยนำหมูเด้งโชว์ในงาน

ปัญหาทางด้านภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้คู่ค้าของไทยหยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อกีดกันทางการค้ามากขึ้น ขณะนี้กำลังมีการประชุมสำคัญ COP29 พาไปดูว่า จะมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่

ขณะนี้กำลังมีการ “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือการประชุม COP29 โดยปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ที่ชายแดนยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตก การประชุมมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 โดยมีภาคีสมาชิกจำนวน 198 ภาคีเข้าร่วมประชุม”

ในการประชุมครั้งนี้ประเทศต่าง ๆ จะอัพเดทแผน 'การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด' หรือ Nationally Determined Contributions : NDC ฉบับใหม่ ให้เป็น NDC 3.0 เพื่อดูแลสภาพอากาศของโลก โดยกำหนดแผนงานการดำเนินการของไปจนถึงปี 2035 เช่น รายงานผลการประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) รวมถึงเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Global Goal on Adaptation: GGA)

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาข้อกำหนดของกลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานตาม Core Carbon Principles ในกรณีการวัดการนับซ้ำ (Double-Counting) ที่กลไกของ Article 6.4 ตามข้อตกลงปารีสที่ยังไม่ครอบคลุม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการกล่าวถึงการประชุม COP 29  ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีจะกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ประมาณ 1.1 – 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ” เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส และให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศเหล่านั้น จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดเพียงจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รวมถึงมีการเริ่มกองทุนใหม่ ได้แก่ กองทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance Action Fund (CFAF) ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรเงินทุนจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ 

อีกกองทุนคือ โครงการริเริ่มบากูเพื่อการลงทุนและการค้าทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ the Baku Initiative for Climate Finance Investment and Trade (BICFIT) เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือทางการเงินเข้ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศต่าง ๆ

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การผลักดันการดำเนินด้านสิ่งแวดล้อมคงจะมาจากการปรับตัวของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะส่งผลไปสู่บริษัทขนาดเล็ก รวมถึง SMEs ที่จะเป็นความเสี่ยงให้ต้องเร่งปรับตัวตาม ทั้งนี้ การประชุม COP29 คงจะส่งผลให้ทิศทางของทุกภาคส่วนเปลี่ยนไปมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดที่จะมีการผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน และประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการผลักดันในระดับภูมิภาคอาเซียน

 

ส่วนที่มีความกังวลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ คนใหม่ จะทำให้แผนงานต่างๆ เกี่ยวกับรับมือโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เพราะทรัมป์ เคยกล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง หากได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส  ฉบับปี 2558

ในการประชุม COP 29 มีผู้แทนระดับสูงด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ “จอห์น โพเดสตา” เข้าร่วมประชุมด้วย และได้พูดถึงประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า สหรัฐฯ จะไม่ยุติความพยายาม ในการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะพยายามเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ แต่พลเมืองทุกคนของสหรัฐฯ จะรับช่วงต่องานที่ยังไม่เสร็จ และปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นต่อไป

 

สำหรับประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เฉลิมชัย ศรีอ่อน เตรียมประเด็นนำเสนอในการประชุม COP29 ไว้ 5 เรื่อง ประกอบด้วย

1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 43 จากเป้าหมายร้อยละ 30 – 40 หรือคิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

3. การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)

5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา

นอกจากการเข้าร่วมการประชุม COP 29 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว ประเทศไทยยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดแสดงนิทรรศใน Thailand Pavilion นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ Climate Policy, Climate Technology, Climate Action  และ Climate Finance รวมถึง Technology and Innovation Zone นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนจากภาคเอกชน และที่สำคัญยังได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) เพื่อเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนเยาวชน ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อต่างๆ กว่า 30 หัวข้อ  เช่น ยาวชนกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดและกักเก็บคาร์บอน การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาต่าง ๆ 

ไฮท์ไลท์สำคัญ คือ กิจกรรมกับ “หมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระ ขวัญใจของชาวไทยและชาวโลก จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ไทยได้นำหมูเด้งไปร่วมกิจกรรมถ่ายภาพที่ระลึกลงบนแมกเนต ใน Thailand Pavilion ที่เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของไทย

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง